มุมสะท้อนรบ.แพ้โหวตสภาล่ม

รบ.แพ้โหวตสภาล่มกรณีรัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้านในญัตติตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศ คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 และเสนอให้ลงคะแนนใหม่ จนนำมาสู่การประท้วงวุ่นวาย และองค์ประชุมล่มในที่สุด ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ถึงการควบคุมเสียงของฝั่งรัฐบาล เสียงรัฐบาลที่โหวตสวนหันไปสนับสนุนฝ่ายค้าน รวมทั้งการเสนอให้ลงคะแนนใหม่

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์ มสธ.

‘รบ.แพโหวต-สภาล่ม’

เรื่องนี้มาจาก 4 ปัจจัยด้วยกันคือ หนึ่งภาวะเสียงปริ่มน้ำทำให้เกิดการพลิกผันได้ตลอดเวลา และทำให้เกิดการต่อรองต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน แม้กระทั่งบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

ที่น่าจะเป็นจุดสังเกตคือ 6 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่โหวตสวนมติวิปรัฐบาล ต่างเป็นบุคคลใกล้ชิดกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องกับการต่อรองตำแหน่งประธานกมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่

ประการที่สอง อุดมการณ์นักการเมืองก็ยืนอยู่ตรงข้ามคสช.อยู่แล้ว 5 ปีที่ผ่านมา ถึงอย่างไรนักการเมืองก็ต้องมีอุดมการณ์สนับสนุนวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าจะสนับสนุนคสช. อยู่แล้ว

ปัจจัยที่สามคือส..ขาดประชุมกันมาก โดยเฉพาะคนที่สวมหมวกสองใบ เป็นทั้งส..และเป็นรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเห็นผลหลายครั้งแล้ว ถ้าไปดูตัวเลขของผู้ขาดประชุมค่อนข้างมาก มีคนเข้าประชุม 467 คน ขาดประชุมประมาณ 30 คน

ปัจจัยที่สี่ คือมาตรา 44 ส่งผลกระทบวงกว้าง กระทบกับคนในสังคมจำนวนไม่น้อย เพราะฉะนั้นอาจมีกระแสที่ต้องการให้ยกเลิกหรือต้องการให้เยียวยาแก้ไขกฎหมายหรือแม้แต่ผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมาตรา 44

ย้อนไปดูจะเห็นว่าประกาศคำสั่งคสช.มีอยู่ 556 ฉบับ ในนั้นเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 ถึง 211 ฉบับ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นคำสั่งที่กระทบหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงมีผลต่อบุคคลอย่างกว้างขวางหลากหลายวงการ ทั้งนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น พรรคการเมือง ประชาชน นักกิจกรรม ข้าราชการ

ถึงก่อนคสช.จะสิ้นสภาพ มีการยกเลิก คำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 หลายฉบับ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 279 ยังรับรองประกาศ คำสั่งที่ยังคงเหลืออยู่นำไปสู่ภาวะรัฐธรรมนูญคู่ ทำให้เกิดผลกระทบที่ยังคงค้าง เมื่อกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมากจึงเป็น แรงกดดันในสภาที่จะสนับสนุนการศึกษาผลกระทบของมาตรา 44

ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 83 และ 85 เป็นการระบุถึงสองเรื่องที่แตกต่างกัน ข้อ 83 คือวิธีการออกเสียงโดยเปิดเผย เช่น ใช้เครื่องลงคะแนน, ใช้วิธีการขานชื่อเรียงตัว, วิธีการตามที่ประธานกำหนด ซึ่งคือการขานชื่อเรียงตัว

ส่วนข้อ 85 คือการนับคะแนนใหม่ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับ การลงคะแนน เพราะเมื่อลงคะแนนไปแล้วผลจะเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ เว้นแต่จะมีการร้องขอให้นับคะแนนใหม่และไม่ได้ หมายถึงว่าให้มีการออกเสียงใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการ แต่คะแนนนั้นต้องไม่บวกหรือลบจากเดิม เว้นแต่ว่าจะมีหลักฐานให้เห็นว่าเป็นการลงคะแนนผิดเนื่องมาจากความผิดพลาดของเครื่อง ลงคะแนน เป็นต้น

ดังนั้นการจะขอให้นับคะแนนข้อ 85 จะทำให้เกิดปัญหาบรรทัดฐานต่อการทำงานของสภาได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ คือการทำงานของสภาต้องสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นเชื่อถือและศรัทธา สร้างประสิทธิผลของระบบรัฐสภา

หากผู้คนในสภาไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เกิดความชอบธรรมทางการเมืองผู้คนก็จะยิ่งตั้งคำถาม ความศรัทธาเชื่อถือต่อระบบรัฐสภาไทยก็จะเกิดปัญหาตามมา เพราะเมื่อลงคะแนนไปแล้วก็ยังจะให้ลงใหม่ ถ้ารัฐบาลแพ้ก็ลงใหม่อีก ก็จะเกิดปัญหาทันทีว่าหลักที่จะยึดถือได้คืออะไร

เมื่อมีการขอใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับข้อ 85 ประธานก็ต้องวินิจฉัยให้ดีว่าเป็นเรื่องของการนับคะแนนใหม่ ไม่ใช่เป็นการออกเสียงใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการออกเสียงเพื่อยืนยันถึงความถูกต้องของคะแนนที่ลงไป

โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

‘รบ.แพโหวต-สภาล่ม’

การเสนอนับคะแนนใหม่ที่บอกว่าระเบียบสภาทำได้นั้นไม่ทราบระเบียบให้ทำได้ในกรอบใดบ้าง ระเบียบทั่วไปไม่ใช่จะขอให้นับใหม่ได้โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งฝ่ายค้านประท้วงนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ไม่ใช่ประท้วงใคร เพราะการวินิจฉัยให้นับคะแนนใหม่นั้นฝ่ายค้านเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร

มาถึงตอนนี้ก็สงสัยว่าการประชุมคราวหน้าจะเป็นอย่างไร คล้ายกับว่าญัตติที่ให้นับคะแนนใหม่ได้ตกไปแล้ว แต่ก็คงต้องเป็นไปตามระเบียบและคงมีการถกเถียงกันอีกแน่นอน

ครั้งนี้ถือว่าเป็นการแพ้เหลี่ยมแพ้มุมกันแต่ไม่เกี่ยวอะไรกับการทำงานของสภา เพราะเกี่ยวโยงกับการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งคสช. ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในมาตรา 44 ถูกต้องหรือเปล่า เพราะมาตรา 44 ระบุไว้ชัดเจนว่าจะใช้ได้กับกรณีใดบ้าง หรือใช้ได้กับกรณีไม่เกี่ยวกับที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือหมดสมัยไปแล้วก็ต้องมา ทบทวนหรือถอดทิ้งบ้าง อย่าไปเอามรดกของคสช. มากอดไว้มากนัก

กรณีให้ลงคะแนนใหม่จะทำให้เกิดบรรทัดฐานการพิจารณาญัตติอื่นๆ นั้น ส่วนตัวคิดว่าหากเป็นญัตติอื่น การหักดิบหรือการหักเหลี่ยมหักมุมในเชิงเผชิญหน้ากันก็คงจะไม่ชัดเจนเหมือนที่เกิดขึ้น

วันข้างหน้าฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตก็คงจะเกิดขึ้นได้อีก แต่คงไม่ใช่ว่าจะใช้ไม้นี้ การนับคะแนนใหม่ทุกครั้งหรือถ้าหากจะนับคะแนนใหม่ก็อาจทำได้หากฝ่ายค้านยินยอม และเห็นว่าเป็นเหตุอันสมควร ไม่ใช่จะใช้ลักษณะหักโค่นกันแบบนี้ ส่วนตัวยังเชื่อว่าการดำเนินงานของสภาคงจะเป็นไปตามปกติ อย่าเป็นห่วงอะไรล่วงหน้า หากมีญัตติอื่นที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาก็อาจแพ้หรือชนะกันได้อีกก็ต้องว่ากันไป

แต่การทำอะไรอย่าลืมว่ามีคนดูอยู่ ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าท่าเข้าทาง เป็นไปตามกติกา แค่ถกเถียงหรือเล่นแง่กันเล็กๆ น้อยๆ ส่วนจะล้ำเส้นหรือไม่คนดูก็เห็นและตัดสินได้ แต่ถ้าเดินหน้าไม่ได้เลยแล้วใช้แง่มุมทางเทคนิคตลอดเวลา คนดูก็จะเบื่อ

เหมือนดูกีฬาแล้วยอมทำฟาวล์อยู่เรื่อย คนดูก็จะไม่สนุก ในสนามไม่ใช่ใครผ่านมาจะเตะตัดขาให้ล้มอย่างเดียว ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าไม่ใช่เกมกีฬา เช่นเดียวกับการดำเนินการของสภาผู้แทนฯ ถ้าระหว่างการดำเนินการมีอะไรตุกติกบ้างเล็กน้อยเหมือนกีฬาที่เอาเปรียบกันได้บ้างทางเทคนิค เล็กๆ น้อยๆ ก็ยอมกันได้

แต่ถ้าทำกันจนไม่สามารถทำงานหลักได้เลยไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการตรากฎหมาย คนดูก็จะออกมาบอกเองว่ามันไม่เข้าท่า

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษย์ศาสตร์ฯ ม.อุบลราชธานี

‘รบ.แพโหวต-สภาล่ม’

ประการแรก สะท้อนการตั้งรับกับการลงมติในญัตติต่างๆของรัฐบาล ซึ่งเป็นการพ่ายโหวตฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลจึงต้องตระหนัก

และการขอให้ลงคะแนนใหม่ เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ถ้าให้ลงคะแนนใหม่ได้ครั้งนี้ในอนาคตก็จะมีการอ้างถึงการปฏิบัติจากครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาของกระบวนการบัญญัติกฎหมาย หรือ การสร้างกฎหมาย รวมถึงการใช้มติโหวตของทั้งสองฝ่ายในอนาคตได้ ซึ่งไม่ดีต่อกระบวนการประชาธิปไตยของบ้านเรา

การขอให้ลงคะแนนใหม่ไม่สมควรให้เกิดขึ้น ในสภาวะที่เรากำลังดำเนินการตามครรลองประชาธิปไตยที่มีส..มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่เป็นญัตติและการออกกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่ยังเชื่อว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้กระบวนการนิติบัญญัติ ไม่ควรใช้เรื่องวาทกรรมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะให้ลงคะแนนใหม่

ครั้งนี้ถ้าอนุญาตให้ฝ่ายรัฐบาลทำได้ ในวันข้างหน้าถ้าฝ่ายค้านจะใช้วิธีนี้บ้างก็คงจะไม่สามารถปฏิเสธได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้สภาเราไม่สามารถเดินหน้าไปได้ เพราะมีการเล่นเกมกันแบบนี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตย

ปัญหาที่ต้องการใช้สภาเป็นที่แก้ปัญหาและเรารอคอยมานานหลายปีจะไม่เป็นผล รัฐบาลและฝ่ายค้านต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบถึงผลกระทบต่ออนาคตและผลที่จะตามมา ทั้งความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการรัฐสภา

ทางออกเรื่องนี้ แม้ประธานสภาจะทำตามข้อบังคับการประชุมสภาแล้ว ครั้งนี้น่าจะเป็นบรรทัดฐานคือฝ่ายรัฐบาลต้องยอมรับกับผลที่ออกมาเพื่อให้เป็นขอยุติ ถ้าไม่ยอมรับผลที่ตามมาก็จะเป็นเช่นเดิมเป็นสภาล่ม เพราะไม่ยึดหลักการที่เป็นมา หรือเรียกว่าเป็นสภาไม้หลักปักเลนเชื่อว่า สภาเราป่วนแน่ๆ

ธเนศวร์ เจริญเมือง

อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ฯ ม.เชียงใหม่

‘รบ.แพโหวต-สภาล่ม’

ความขัดแย้งจนทำสภาล่มเป็นเรื่องปกติในสังคม แต่ของเราพิเศษกว่านั้นคือเป็นบรรยากาศที่สภาจากการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเกิดรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน จึงเหมือนคน ไม่ได้กินน้ำมานาน ทำให้ส..ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลกระตือรือร้นสูงและดิ้นสู้กัน

ฝ่ายรัฐบาลที่ได้มาเพราะคะแนนส..ช่วย ต้องปกป้องรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายค้านที่ได้คะแนนจากการเลือกตั้งทั่วไปมากกว่าก็ไม่ยอม ทำให้การต่อสู้เข้มข้นรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการตรวจสอบของ กมธ.... ที่เรียกนายกฯและรองนายกฯไปชี้แจงถือเป็นปรากฏการณ์ที่เข้มแข็ง ส่งผลสะเทือนกับนายกฯและรองนายกฯที่เคยเป็นหัวหน้าและรองหัวหน้าคสช.

ทางออกต้องอาศัยกฎเกณฑ์ที่ร่างขึ้นมา และถ้ารักประชาธิปไตยเมื่อเห็นความขัดแย้งต้องค่อยๆ แก้ด้วยเสียงข้างมากและเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ตีรวนเพื่อทำให้เกิดความรู้สึก ปั่นป่วน อยู่ไม่ได้ ต้องยุบสภาหรือยึดอำนาจเพราะจะทำให้ประเทศถอยหลังกลับไป ปัญหาก็ไม่จบสิ้น

เมื่อจะให้นับใหม่ก็นับใหม่จะทำอย่างไรในเมื่อหลักเกณฑ์เป็นแบบนี้ ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาด้วย แต่ละฝ่ายก็รู้ว่าคะแนนที่ลงมามีคนขาดต้องไปดูและสรุปบทเรียนทั้งสองฝ่าย ตอนนี้ต้องอยู่แบบนี้แล้วดูปัญหาทางการเมืองที่มีความขัดแย้งไปสักระยะว่าแต่ละฝ่ายจะแสดงความมีวุฒิภาวะความอดทนแค่ไหน แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประชาชนที่จะเรียนรู้ว่ากฎเกณฑ์ที่มีปัญหาของสภาเป็นอย่างไร

เมื่อปล่อยไปแบบนี้สักระยะยังมีปัญหารัฐบาลก็ต้องคิดว่าสมควรจะยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนตัดสิน แต่ก็มีปัญหาว่าขณะนี้ยังไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญก็จะเป็นปัญหาขัดแย้งขึ้นมาอีก

แต่อีกนัยยะหนึ่ง นี่คือสังคมที่กำลังตั้งไข่ประชาธิปไตยเพราะล้มเขามาตลอดแล้วมาลุก ถ้ามีการยึดอำนาจก็ถอยกลับไปติดลบเริ่มจากศูนย์อีก ดังนั้นวันนี้ต้องแก้ที่กฎเกณฑ์ต่างๆที่มาจากรัฐธรรมนูญและรัฐสภาจะปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไรเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น

ในสภาคงขัดแย้งลักษณะนี้อีกนานเนื่องจากรัฐบาลฝ่ายค้านคะแนนสูสีกัน ถ้าเกิดไปเรื่อยๆ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการคนละอย่าง เช่น การเสนอตั้งกมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีกระแสเรียกร้องมากขึ้นฝ่ายรัฐบาลก็จะเป็นประธานกมธ.เพื่อคุมเสียง ไม่ให้มีการแก้ไข เราต้องทนและสู้ไปอีกสักระยะแล้วประชาชนจะเห็นเอง

จากนั้นสังคมก็ต้องเรียนรู้ร่วมกันให้มากขึ้น แก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นปัญหาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คงต้องย้อนถามกลับว่าใครที่ทำให้รัฐธรรมนูญออกมาเป็นแบบนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน