คุกคามทางเพศ : คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กระแสถกเถียงในโลกโซเชี่ยลว่าด้วยเรื่องคุกคามทางเพศต่อสตรี เป็นประเด็นที่มีประโยชน์ต่อสังคมเพื่อนำไปสู่การหาทางช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงผู้หญิง แต่รวมถึงผู้ชาย และเพศทางเลือกอื่นๆ

แต่ระหว่างการถกเถียงเนื้อหาอันมีสาระ น่าเสียดายว่าถูกบดบังด้วยประเด็นดราม่าระหว่าง ส.ส.หญิงกับดารานักแสดงหญิงผู้ทำงานรณรงค์ด้านสตรี

สำหรับนักแสดง การตกอยู่ในกระแสดราม่าไม่ใช่เรื่องพิเศษ แต่สำหรับการเป็นส.ส. ย่อมเป็นที่คาดหมายมากกว่าถึงการทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนและการมีวุฒิภาวะอย่างชัดเจน

การใช้ถ้อยคำที่สุ่มเสี่ยงเหยียดหยามผู้อื่นไม่ใช่วิถีที่ควรทำ

หากพิจารณาประเด็นที่น่าถกเถียงในกรณีคุกคามทางเพศระหว่างคู่กรณีส.ส.ก็คือ ไทยมีกฎหมายที่คุ้มครองผู้ถูกคุกคามทางเพศครอบคลุมแล้วหรือไม่

เพราะการคุกคามไม่มีผลกระทบเฉพาะทางกาย ยังส่งผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งบางกรณีการถูกทำร้ายจิตใจมีผลร้ายแรง ยาวนาน และเยียวยายากยิ่งกว่า

โดยเฉพาะเมื่อวิธีการคุกคามยุคปัจจุบันขยายวงจากการกระทำทางกายภาพ สู่การคุกคามในโลกออนไลน์ ทั้งล่วงละเมิด รุมล้อเลียน บูลลี่

กระบวนการกฎหมายที่มีอยู่ เช่น มาตรา 392 ของกฎหมายอาญา ว่า “ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจโดยการขู่เข็ญต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ” ช่วยคุ้มครองรองรับได้จริงหรือไม่

ปัญหาการคุกคามทางเพศไปจนถึงการใช้ความรุนแรงทางเพศยังคงเกิดขึ้นในสังคมทุกวัน ทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็น โดยเฉพาะกับเหยื่อที่อ่อนแอกว่า ทั้งด้านวัย เพศ ฐานะ และสถานะทางสังคม

แม้ประเทศไทยมีกฎหมายที่บัญญัติโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต แต่ควรต้องศึกษาและวิจัยด้วยว่ามีผลทำให้คดีทางเพศลดลงหรือไม่

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคและปัญหาที่คนทำงานช่วยเหลือเหยื่อและรณรงค์สิทธิสตรีเห็นคล้ายกันคือเรื่องทัศนคติทางสังคม ที่มีคนจำนวนหนึ่งยังไม่เคารพความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อเริ่มต้นด้วยความคิดเหยียดและคำพูดเหยียด จึงมักนำไปสู่การกระทำที่เหยียดหยามและคุกคามในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน