แก้ยากก็ต้องแก้ – ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่คือจังหวะเวลาที่มีสมาชิกวุฒิสภาตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

การร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกติกาที่กำหนดไว้หลังเหตุการณ์รัฐประหาร เป็นเรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนฯ ย่อมทราบว่าทำได้ยากถึงยากที่สุด

สื่อด้านกฎหมาย ไอลอว์ เคยวิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีวิธีการแก้ไขที่ยุ่งยากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550

โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน และฝ่ายค้านร้อยละ 20 ในจำนวนเสียง ครึ่งหนึ่งของสองสภาที่ใช้ลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังบังคับให้ทำประชามติถ้าจะแก้ไขในประเด็นวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากเป็นไปตามนี้ วิธีการและขั้นตอนต่างๆ ย่อมกินเวลานาน นักวิชาการบางท่านประเมินว่า อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี

เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายมีขั้นตอนยุ่งยากและซับซ้อน หากว่ามีการเริ่มขั้นตอนนี้จริง กรอบเวลาที่เป็นไปได้เร็วสุดอาจจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งสมัยหน้า

อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้สิ่งที่สมาชิกรัฐสภาชุดปัจจุบัน ทั้งส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง และส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะคสช. ควรแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าจะจัดการเรื่องนี้หรือไม่ และอย่างไร

เพราะถึงที่สุดแล้ว สมาชิกทุกคนย่อมต้องรู้ว่า ถ้าจะยกระดับประชาธิปไตยให้สูงขึ้น ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ถึงไม่แก้ไขวันนี้ วันหน้าก็ต้องแก้ไขอยู่ดี การปล่อยเวลาและโอกาสให้ล่วงเลยไปย่อมไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

การตั้งต้นเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่สภาหรือรัฐบาลจำนนต่อการเคลื่อนไหวของเยาวชน และไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใหญ่ยอมให้เด็ก

แต่เป็นสำนึกขั้นพื้นฐานสำหรับคนที่อยู่ในอำนาจนิติบัญญัติพึงกระทำ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด

การฟื้นฟูประเทศในยามวิกฤตจำเป็นต้องมีกลไกทางการเมืองที่มีคุณภาพเพื่อทำให้ระบบการแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากที่สุด

บุคคลที่จะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ได้ ไม่น่าจะใช่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทหรือองค์กรการเงินใหญ่ๆ แต่เป็นทีมที่รับรู้ข้อมูลที่เข้าถึงประชาชนเพื่อวางแผนและปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้ทันสถานการณ์มากที่สุด

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้การเมืองพยุงเศรษฐกิจขึ้นมาได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน