ม็อบชนม็อบ? – ความวิตกกังวลใหม่เกี่ยวกับกิจกรรม ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ กลุ่มเยาวชนหรือแฟลชม็อบขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้เคลื่อนไหว ซึ่งฝ่ายแรกนิยมใช้วิธีดำเนินคดีกับฝ่ายหลัง

แต่เป็นการแสดงตัวของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเยาวชน โดยเฉพาะการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนอีกกลุ่มที่มีลักษณะนิยมขวาขึ้นมา

การเปิดตัวนี้สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย รวมถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งผู้นำรัฐบาลถึงกับเอ่ยว่า ไม่อยากให้มีม็อบ ไม่อยากให้มาชนกัน และไม่อยากให้กลับไปจุดเดิม

“จุดเดิม” ที่ว่านี้เป็นประเด็นที่น่าจะหวนกลับไปมอง ศึกษา และเรียนรู้

การปะทะกันของผู้ประท้วงหรือผู้แสดงออกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ ส่วนใหญ่จะไม่มีอันตราย หากเป็นการปะทะทางความคิด และถกเถียง โต้แย้งกันด้วยเหตุผล

สอดคล้องกับสังคมไทยที่ปกติแล้วนิยมความสงบ ค่อยพูดค่อยจา และประนีประนอม

ความผิดปกติที่ทำให้การปะทะกันทางกายและอาวุธ มักไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ สังเกตได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในอดีต มีแผนการ กระบวนการและการจัดตั้งให้เกิดอย่างชัดเจน

เริ่มตั้งแต่การปลุกความเกลียดชัง ให้ร้าย บิดประเด็น และสร้างให้ฝ่ายไม่เห็นด้วยเป็นศัตรู มากกว่าเป็นคนร่วมสังคมเดียวกัน

จากนั้นยุทธวิธีดังกล่าวนี้จะใช้ได้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น หากเจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉย ในการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือใช้วิธีระงับเหตุรุนแรงระหว่างกลุ่มคน ไม่เหมือนกัน ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ม็อบชนม็อบอาจไม่ซ้ำรอยได้ง่ายนัก เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบันจะช่วยเป็นเกราะป้องกันความรุนแรงได้ส่วนหนึ่ง

การกระทำหรือพฤติกรรมที่เดิมไม่มีใครรู้ การใส่ร้ายที่เคยเป็นไฟลามทุ่ง อาจถูกสกัดอย่างฉับพลันได้ด้วยการตรวจสอบที่อาศัยเทคโนโลยีปัจจุบัน

ฉะนั้นข้อเรียกร้องที่มีบางคนพยายามปลุกขึ้นมาว่าผู้นำการชุมนุมต้องยอมตายก่อนผู้ร่วมชุมนุม นอกจากไม่เป็นเหตุเป็นผลแล้ว

ยังไม่เป็นสาระหรือความจำเป็นใดๆ ในระบอบประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน