ไม่ซ้ำรอย 6 ตุลา – การต่อสู้ทางความคิดของคนในสังคมขณะนี้ดูตึงเครียดขึ้น เพราะมีประเด็นพูดเตือนคนรุ่นใหม่ปัจจุบันว่าอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับคนรุ่นใหม่ยุคเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุความรุนแรงทางการเมืองที่น่าสะเทือนขวัญระดับโลก ไม่มีเพียงการสังหารที่ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตนับร้อย ยังมีการทารุณกรรม ล่วงละเมิดทางเพศ และย่ำยีความเป็นมนุษย์ ตามหลักฐานภาพบันทึก รวมถึงภาพและข่าวของสื่อต่างประเทศ

การยกเหตุการณ์ 6 ตุลา มาเตือนนักเรียน นิสิต นักศึกษาในครั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยความห่วงใย ข่มขวัญ หรือขู่เตือน ล้วนจะเป็นบทเรียนสำหรับสังคม

ว่าต้องไม่ให้เหตุลักษณะนี้เกิดซ้ำได้อีก

บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคือการสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มนักศึกษาและแนวร่วมประชาชน โดยรัฐบาลยุคนั้นเพิกเฉยหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว

จนเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายของกระบวนการคือการกวาดล้างและใช้ความรุนแรงตั้งแต่ต้นจนจบ

แม้ปัจจัยและสิ่งแวดล้อมทางสังคมปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้เกิดกระบวนการดังกล่าวได้ง่าย แต่การข่มขู่คุกคามต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ยังคงมีอยู่

เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรเพิกเฉย และไม่ควรมองว่าเป็นแค่การคิดไปเองของผู้ถูกคุกคาม

เพราะการใช้ความรุนแรงทำร้าย ผู้แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลเคยเกิดขึ้นแล้ว และเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจจับกุมหรือติดตามตัวคนร้ายได้

ประเด็นที่สังคมต้องหาทางออกร่วมกันคือ จะสร้างพื้นที่ให้กลุ่มเยาวชนแสดงความเห็นต่ออนาคตของบ้านเมืองได้อย่างเสรีอย่างไร โดยไม่ถูกข่มขู่คุกคาม

เครือข่ายอาจารย์และนักวิชาการเสนอทาง ออกในแถลงการณ์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ และแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม

การสร้างพื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่านักศึกษาถูกบงการ ถูกล้างสมอง หรือคิดเองได้ ยังจะเป็นรูปแบบที่คนในสังคมจะเรียนรู้ร่วมกันถึงการแสดงความเห็น ถกเถียง โต้เถียง ต่อสู้กันด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้อาวุธหรืออำนาจเข้าไปตัดสินหรือข่มขู่คุกคาม

เพื่อให้รับประกันได้ว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลาจะไม่ซ้ำรอย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน