FootNote:ปฏิกิริยาจากกลุ่มนักเรียนเลว กับแถลงการณ์ นายกรัฐมนตรี

การออก”หมายเรียก”ต่อ 30 คน ซึ่งตำรวจคิดว่ามีบทบาทในการขับเคลื่อนกระบวนการเดินเท้าจากสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี บนถนนสาทรเป็นไปตามความคาดหมาย

ความหมายของตำรวจต่อการออก “หมายเรียก”ครั้งนี้ เพราะประเมินว่า 30 คนนี้ดำรงอยู่ในสถานะแห่ง”แกนนำ”

แม้ว่าพวกเขาจะปฏิเสธความเป็น”แกนนำ”ของตนก็ตาม

หลักคิดนี้ดำเนินไปเหมือนกับที่เคยปฏิบัติต่อกรณีของ นายอานนท์ นำภา ต่อกรณีของ นายภาณุพงศ์ จาดนอก ต่อกรณีของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา

จะแตกต่างก็เพียงแต่ว่าในเดือนสิงหาคมเป็นออก “หมายจับ” และดำเนินการจับกุมคุมขังเลย ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายนเป็นการออก”หมายเรียก”เท่านั้น

หากศึกษาผลจากการออก”หมายจับ”เมื่อเดือนสิงหาคม ก็พอจะมองออกว่าผลของ”หมายเรียก”จะเป็นไปอย่างไร

แม้ว่า”เป้าหมาย”ของตำรวจจะคือการสกัด การขัดขวาง

ต้องยอมรับว่าตำรวจมิได้มีแต่”หมายจับ”อย่างเดียว หากแต่ในเดือนตุลาคมยังมีมาตรการที่หนัก ถึงขั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน”ขั้นร้ายแรง”แล้วลงมือสลายการชุมนุม

อย่างที่เห็นกันในตอนเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม อย่างที่เห็นกันในตอนค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม

ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ 1 เป็นการเข้าสลายการชุมนุม พร้อมกับการส่งรถน้ำและกำลังตำรวจติดยุทโธปกรณ์ครบถ้วน 1 เป็นการสลายการชุมนุมหลังการจับกุมคุมขังแกนนำ

เป้าหมายเด่นชัดอย่างยิ่งเพื่อต้องการไม่ให้มีการชุมนุมต่อไปอีก หรือหากจะมีการชุมนุมก็จะดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีข้อห้ามสร้างความยุ่งยากมากมาย

คำถามก็คือ มาตรการเข้มจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงสามารถสยบการชุมนุมลงได้หรือไม่

คำตอบเห็นได้จากการชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นรุกเข้าไปบริเวณหน้าทำเนียงรัฐบาลในวันที่ 21 ตุลาคม

น่าสังเกตว่าภายหลังการออก”หมายเรียก” 30 แกนนำในวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม กลุ่ม”นักเรียนเลว”ก็นัดหมายการชุมนุมใหญ่ในพื้นที่แยกราชประสงค์

เป็นการชุมนุมใหญ่หลังจากอุ่นเครื่องเมื่อ 14 พฤศจิกายน

เป็นการชุมนุมใหญ่หลังมี”แถลงการณ์”ออกมาจาก”นายกรัฐมนตรี”

สถานการณ์ในวันที่ 21 พฤศจิกายน จึงเร้าความสนใจยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน