คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

#Metoo – การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนแม้มีลักษณะที่ได้รับการผ่อนปรนจากเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่ากลุ่มนักศึกษาและประชาชน แต่ยังมีกรณีที่สิทธิถูกคุกคามอย่างไม่ควรเกิดขึ้น

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ถึงปัจจุบัน พบว่ามีเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง รวม 4 รายแล้ว

ในจำนวนนี้ 2 คน อายุ 16 ปี ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

นอกจากนี้ยังเกิดกรณีคุกคามลักษณะบูลลี่ทางออนไลน์ต่อหญิงสาวอายุ 21 ปีที่ใส่ชุดนักเรียนไปร่วมชุมนุมถือป้ายว่า “หนูถูกครูทำอนาจาร ร.ร.ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย”

มีผู้นำข้อมูลและภาพส่วนตัวของหญิงสาวมาเปิดเผย เพียงเพื่อจะบอกว่าไม่ใช่เด็กนักเรียน อีกทั้งโจมตีการแต่งตัวว่าเป็นต้นตอให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

กระแสการเปิดเผยเรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศในอดีต มีสัญลักษณ์การติดแฮชแท็กที่คำว่า #Metoo หรือ ฉันก็โดนเหมือนกัน ปรากฏตั้งแต่ปี 2560

หลังจากผู้หญิงจำนวนมากที่เคยตกเป็นเหยื่อเก็บประสบการณ์เลวร้ายไว้จนส่งผลกระทบ ร้ายแรงทางจิตใจและเป็นบาดแผลเรื้อรังทางใจ

เมื่อเหยื่อหลายคนเริ่มเปิดเผยเรื่องราวถูก ล่วงละเมิด อาจมีบางคนสวมรอยเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือมุ่งหวังผลประโยชน์อื่นๆ

แต่หลักจริยธรรมในสังคมที่เจริญและมีคุณธรรม ต้องรับฟัง แยกแยะเหยื่อ ไม่เหมารวมว่าคนที่ออกมาเปิดเผยคือผู้สวมรอย จนบดบังประเด็นสำคัญที่สังคมต้องปฏิรูป

ประเด็นสำคัญของหญิงสาวแต่งชุดนักเรียนวัย 21 ปี คือการเปิดเผยว่าเคยถูกล่วงละเมิดในโรงเรียนเมื่อ 5 ปีก่อน หรือตอน อายุ 16 ปี ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของเธอถึง ปัจจุบัน

เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ผู้ถูกกระทำเปิดเผยตัวเอง ท่ามกลางคดีล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ

ส่วนที่ไม่เป็นคดีความหรือไม่เป็นข่าวยังมีอีกเท่าใดเป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องช่วยกันหาคำตอบและช่วยเหลือเหยื่ออีกมากมาย

ต้องเปิดทางให้เหยื่ออื่นๆ พูดและแสดงออก ไม่ใช่ซ้ำเติม กดทับ เหยียดเพศ หรือมอง แค่ว่าแต่งตัวถูกต้องหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน