FootNote:บทบาท อิทธิพล สื่อ”ออนไลน์” ครอบงำ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากข้อสังเกตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการเสนอข่าวจาก สถานการณ์#ม็อบ28กุมภาพันธ์ว่าสื่อมีความลำเอียง คำถามก็คือแล้วการเสวนา”สื่อมีไว้ทำไม”เกิดขึ้นได้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าการเสวนา”สื่อมีไว้ทำไม” ณ ใต้ถุนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาจากเหตุเมื่อ 28 กุมภาพันธ์

เท่ากับมุมมองของเหล่านักเรียน”นิเทศศาสตร์”จำนวนหนึ่งต่อ สถานการณ์#ม็อบ28กุมภาพันธ์ แตกต่างไปจากมุมมองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างสิ้นเชิง

นั่นก็คือ สายตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นว่าสื่อมิได้รายงานสถานการณ์ไปตามสภาพความเป็นจริง หากแต่ลำเอียงและเสนอแต่ด้านของตำรวจ มิได้เสนอด้านของผู้ชุมนุม

ขณะที่คำถาม”สื่อมีไว้ทำไม”ของเหล่านักเรียน”นิเทศศาสตร์”เห็นว่า สื่อกระแสหลักถูกครอบงำด้วยอำนาจรัฐ ทำให้มีแนวโน้มโจม ตีผู้ชุมนุมและแก้ต่างให้กับตำรวจ

นั่นเองจึงทำให้เกิด #แบนช่อง3 และตามมาด้วย#แบนสื่อหลัก รวมถึง #ตำรวจทำร้ายประชาชนติดเทรนด์ 1 ใน 10 ทวิตเตอร์

ทั้งๆที่หากตรวจสอบผ่านสื่ออันเรียกว่า”กระแสหลัก” ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ล้วนเสนอข่าวด้วยความเกรงใจรัฐบาล เกรงใจตำรวจเป็นอย่างสูง

คำถามก็คือ แล้วเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเกิดความรู้สึกว่ามีความลำเอียงในการรายงานของสื่อ

กระทั่งภาพของ”ตำรวจ”ปรากฏมาในด้านอัน”เลวร้าย”

แท้จริงแล้ว ภาพและคลิปซึ่งสะท้อนให้เห็น”ด้านมืด”ในการปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุมของ “หน่วยควบคุมฝูงชน” หรือ “คฝ.” ปรากฏผ่านสื่อกระแสหลักน้อยมาก

แต่ที่เห็นกันอย่างมากมายกระทั่งกลายเป็น “ไวรัล” และติดอันดับเทรนทวิตเตอร์นั้นมาจากสื่อที่เรียกว่ากระแส “รอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม

กระทั่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงไม่ว่าจะเป็นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นใน Clubhouse

ท่วงท่าและอาการอันนำไปสู่บทสรุปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นรูปธรรมอันเด่นชัด 1 ไม่เพียงเพราะความเป็นจริงในการบริหารจัดการม็อบเมื่อคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์เป็นอย่างไร

หากแต่ 1 ยืนยันว่า “ไวรัล” จากสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ ดำเนินไปในลักษณะครอบงำแม้กระทั่งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว

ครอบงำกระทั่งปฏิบัติการ IO ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน