ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์ก่อน มีมติเอกฉันท์ 421 เสียง รับหลักการ

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ…. ซึ่งเสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทย และร่างพ.ร.บ.เนื้อหาในทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล

โดยมีสาระสำคัญเพื่อต้องการให้สภาคืนอำนาจให้กับกรรมาธิการ ในการทำงานตรวจสอบประเด็นความไม่โปร่งใสที่เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินทั้งจากฝ่ายบริหาร รัฐมนตรี และข้าราชการ

การที่สส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างอภิปรายมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนร่างพ.ร.บ. พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 31 คน พิจารณาวาระสอง จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดี

จุดมุ่งหมายการเสนอร่างกฎหมาย “อำนาจเรียก” ของคณะกรรมาธิการครั้งนี้ เพื่อนำมาใช้ทดแทนพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554

ที่การเรียกบุคคลหรือเอกสารจากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบในกรรมาธิการ ไม่สามารถใช้ปฏิบัติได้จริงตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว เนื่องจาก สส.พรรคแกนนำรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งได้มีคำสั่งที่ 17/2563 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563 วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ พ.ศ.2554 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากการกำหนดบทลงโทษทางอาญา เป็นบทบัญญัติที่ขัดกับมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ

จึงทำให้เป็นปัญหาต่อการทำงานของกรรมาธิการ ถูกมองเป็นแค่เสือกระดาษ ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่เชิญมาให้ข้อมูล ชี้แจงรายละเอียด

ย้อนกลับไปในยุครัฐบาลก่อนหน้าที่ต่อท่อสืบทอดอำนาจมาจากยุค คสช. จะเห็นว่า

เครื่องมือตรวจสอบฝ่ายบริหารของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากถูกขัดขวางจาก สส.พรรคแกนนำรัฐบาลขณะนั้น

จวบจนกระทั่งการเมืองเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยในปี 2566 สส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลจึงพร้อมใจผลักดันร่างกฎหมายคืนอำนาจให้กรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา

ทั้งนี้ทั้งนั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวที่ยังต้องผ่านด่านพิจารณาของสภา วาระ 2 และ 3 หัวใจสำคัญคือ การเพิ่มอำนาจกลไกตรวจสอบของสภา โดยจะต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน