รัฐ-องค์กรอิสระ เซ็น MOU ร่วมเป็นเครือข่ายธรรมาภิบาล ด้าน วิษณุ เผย ก่อนรัฐบาลนี้เข้ามา มีโกงใหญ่กว่า 30 เรื่อง ลั่น ต้องอุดช่องโหว่

เครือข่ายธรรมาภิบาล / เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 30 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) การเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ นางพัชราภรณ์ อินทรียงค์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประชาชน ภาครัฐโปร่งใส ร่วมพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ว่า

การลงนามครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศมีความโปร่งใส ลดการช่อราษฎรบังหลวง วันนี้เรามีคนในภาครัฐกว่า 3.5 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนมาก หากเทียบกับจำนวนประชากร จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากตามมา การขับเคลื่อนงานของรัฐนั้น ต้องมีคน เงิน และอำนาจ วันนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายหลายฉบับ จนเกิดคำถามว่าเหตุผลจึงต้องออกกฎหมายมากมายขนาดนั้น แต่โลกมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีกฎหมายใหม่มารองรับการบริหารงานของรัฐ

นายวิษณุ กล่าวว่า การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูประบบราชการ เพราะจะช่วยให้รัฐลดการใช้งบประมาณให้น้อยลงได้ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ หากไม่ปฏิรูป ประเทศจะล่มสลาย ดังนั้น รัฐบาลได้ให้น้ำหนักกับการปฏิรูประบบราชการมาก และหลักการธรรมาภิบาลถือว่าสำคัญมากในระบบของรัฐ เพราะจะลดทุจริตคอร์รัปชันและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้ ประเทศใดมีธรรมาภิบาล หมายความว่าการปฏิรูประบบราชการได้ผล

วันนี้รัฐบาลได้รณรงค์เรื่องธรรมาภิบาลอย่างมาก เพื่อสร้างความตื่นตัวให้ประชาชน หวังลดทุจริต พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งศูนย์ดำรงธรรม เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จึงจะเห็นว่าไม่มีประชาชนออกมาชุมนุม ปิดทำเนียบรัฐบาลเหมือนอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไปปิดกั้นการแสดงออก แต่ว่าทุกจังหวัดล้วนมีศูนย์ดำรงธรรม ที่ประชาชนสามารถไปร้องเรียนได้ เมื่อร้องเรียนแล้วก็ให้การช่วยเหลือ ซึ่งบางครั้งก็ออกมาตรา 44 มาจากความเดือดร้อนของประชาชน ตามที่ประชาชนร้องเรียน โดยมีเรื่องทุจริตได้รับการร้องเรียนมากที่สุดในศูนย์ดำรงธรรม จึงได้ดำเนินการจัดการและชี้แจงในส่วนที่อาจเข้าใจผิด

เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา มีรายงานว่ามีการทุจริตใหญ่อยู่กว่า 30 เรื่อง บางเรื่องมีมูลค่ามหาศาลเป็นหมื่น-แสนล้านบาท รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวด้วย โดยเมื่อรายงาน ครม.แล้ว ก็ได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ รัฐบาลใส่ใจกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หากไม่ปรับปรุงระบบการทำงาน ก็จะยาก ดังนั้นวันนี้จึงต้อเสริมคน เงิน และอำนาจเข้าไป แต่ก็ยังไม่พอ เพราะที่สำคัญจะต้องสร้างเครือข่ายทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ประชาสังคม ประชาชน

ฉะนั้นทุกหน่วยงานจึงต้องแสวงหาความร่วมมือ ขออย่าท้อถอยต่อการทุจริต เราจะต้องทำให้มันเข้มแข็งขึ้น มีช่องโหว่ต้องอุด มีช่องว่างต้องเอาอะไรมาถม เหมือนกับที่ ป.ป.ช.ตั้งเป้าว่าในปี 2564 ประเทศไทยต้องได้คะแนนดัชนีความโปร่งใส หรือ ซีพีไอ 50 คะแนน เพราะมีผลอย่างมากต่อการลงทุนของต่างชาติ รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกัน การที่มีข่าวตรวจสอบทุจริตที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น เงินทอนวัด เงินใต้โต๊ะ เงินคนไร้ที่พึ่ง ฯลฯ ซึ่งการจะขุดคุ้ยเรื่องเหล่านี้ไม่ง่าย แต่ต้องทำ เชื่อว่าจะสำเร็จได้ และหากทำได้นระดับหนึ่งก็จะทำให้ประเทศดีขึ้น” นายวิษณุ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน