ข้อสังเกตต่อปฏิทินการเลือกตั้ง

รายงานพิเศษ

ข้อสังเกตต่อปฏิทินการเลือกตั้ง – หลังจากนายวิษณุ เครืองาม กางปฏิทินการเลือกตั้ง โดยยืนยันวันเข้าคูหาหย่อนบัตรยังเป็นวันที่ 24 ก.พ.2562

แต่นักการเมืองก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดี เพราะระหว่างการ เลือกตั้ง รัฐบาลทหารไม่ใช่แค่รัฐบาลรักษาการ แต่มีอำนาจเต็ม ขณะที่ คสช.ยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือ

นักวิชาการอดีตกกต. มีข้อสังเกตต่อปฏิทินการเลือกตั้ง ดังกล่าว

ภุชงค์ นุตราวงศ์

อดีตเลขาธิการ กกต.

ตามปกติแล้วการทำตารางเตรียมการเลือกตั้ง เป็นการกำหนดทางกฎหมายที่กกต. และสำนักงาน กกต.ต้องเป็นคนกำหนดขึ้นมาเป็นตุ๊กตาว่าถ้ามีพ.ร.ฎ. การเลือกตั้งแล้ว วันไหนต้องทำอะไรบ้าง เช่น ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าและวันจริง

ข้อสังเกตต่อปฏิทินการเลือกตั้ง

ภุชงค์ นุตราวงศ์

สิ่งที่แน่ชัดแล้วคือเมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.มีผลบังคับ เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้วว่าภายใน 60 วัน ต้องเสนอพ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ดังนั้นก็ต้องดำเนินการ

เชื่อว่าที่นายวิษณุ ออกมาพูดเรื่องโรดแม็ปดังกล่าวนั้นรัฐบาลได้หารือกับกกต.แล้วจึงออกมาพูด เช่นนี้ และการพูดแบบนี้ก็จะเป็นผลดีพรรคการเมือง ผู้ลงสมัครและประชาชนเพราะเกิดความชัดเจนขึ้น ส่วนจากนี้จะมีอะไรบวกลบหรือไม่ก็ค่อยมาว่ากัน

หากถามว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นวันที่ 24 ก.พ.62 แน่นอนแล้วหรือไม่นั้น เท่าที่ฟังรัฐบาลแม้กระทั่งนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายวิษณุ ก็พูดตรงกับในไทม์ไลน์เลือกตั้ง แต่กกต.ยังไม่ได้พูดชัดเจน

ผู้ที่จะเสนอพ.ร.ฎ.เลือกตั้งคือประธาน กกต. โดยมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.มีผลแล้วจะเสนอพ.ร.ฎ.ใน 60 วันว่าวันไหนจะให้เป็นวันเลือกตั้งซึ่งเรื่องนี้เป็นบทบาทของกกต.

ส่วนระยะเวลาหาเสียงถ้าเป็น 60 วัน ตามที่นายวิษณุระบุถือเป็นระยะเวลาที่หาเสียงได้เหมาะสมแล้ว เพราะพรรคต่างๆ หรือพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อนถือว่าได้ดำเนินการไว้อยู่แล้วจึงคุ้นเคยกับ ประชาชน แต่พรรคใหม่อาจหนื่อยขึ้น

กรณีนายวิษณุระบุรัฐบาลคสช.ไม่ใช่รัฐบาล รักษาการ แต่มีอำนาจเต็มนั้น ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงการรักษาการ แต่รัฐธรรมนูญเก่าระบุว่าเมื่อมีการยุบสภาหรือรัฐบาลครบวาระแล้วรัฐบาลก็ ต้องปฏิบัติผู้รักษาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 นี้ไม่ได้พูดไว้แต่ยกร่างให้เป็นรัฐบาลเลย

การที่รัฐบาลออกมาพูดถึงไทม์ไลน์เลือกตั้ง ก็ถูกต้องแล้ว ส่วนข้าราชการการเมืองเมื่อเอาตัวเองไปอยู่ในพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วก็ควรมี สปิริตลาออกจากหน้าที่นั้น ให้มองถึงความชอบธรรม

คนที่อยู่ในรัฐบาลเมื่อมีชื่ออยู่ใน พรรคการเมืองแล้วก็ควรลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี อยากออกมารณรงค์อะไรกับพรรคก็ทำไป โดยไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลาพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง หรือกฎหมายอะไรมาระบุซึ่งความชอบธรรมนั้น

แม้รัฐมนตรีเหล่านั้นจะไม่ได้ทำอะไรผิดก็ตามแต่เรื่องความเหมาะสมและความชอบธรรมมันเห็นกันอยู่

การจะมองว่าเอาเปรียบกันหรือไม่นั้นเป็น เรื่องของมุมมองแต่ละคน ฝ่ายหนึ่งมองว่าไม่เป็นไรทำงานไปก่อนถึงเลือกตั้งแล้วค่อยมาว่ากัน แต่อีกฝ่ายที่เขายืนหยัดในประชาธิปไตยแท้จริงก็มองว่าการทำเช่นนี้ไม่ได้ ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ส่วนตัวยังไม่ได้เชื่อ 100% ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงใน วันที่ 24 ก.พ.62 แม้รัฐบาลจะประกาศไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ออกมาแล้วก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรมารองรับ

เพราะยังมี คสช.และอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ คสช.อาจใช้มาตรา 44 เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกก็เป็นได้ ดังนั้นตนมองว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงเมื่อมีการประกาศออกมาชัดๆ อย่างเป็นทางการเท่านั้น

ข้อสังเกตต่อปฏิทินการเลือกตั้ง

ฐิติพล ภักดีวานิช

นอกจากนี้ เงื่อนไข ที่สำคัญอยู่ที่การประเมิน สถานการณ์ว่าพรรคที่สนับสนุนทหารนั้นมีความพร้อมลงสู่สนามเลือกตั้งแล้วหรือ ไม่ ดังนั้นจึงมองว่าไทม์ไลน์การเลือกตั้ง สามารถขยับหรือเลื่อนออกไปได้อีก

ส่วนที่มองกันว่ารัฐบาลจะปลดล็อกช่วง ม.ค.62 หลังพ.ร.ฎ.กำหนด วันเลือกตั้งประกาศออกมาแล้วนั้นคิดว่าช้าเกินไป ควรจะปลดล็อกได้ตั้งนานแล้ว ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความได้ เปรียบให้พรรคที่หนุนรัฐบาลทหาร

อาจทำให้การเลือกตั้งถูกมองว่าไม่เสรีและ เป็นธรรมได้ ขณะที่พรรคการเมืองก็ไม่มีความเป็นอิสระ ทั้งที่กระบวนการก่อนการเลือกตั้งถือเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อรัฐบาลประกาศไทม์ไลน์ออกมาแล้วก็ควรจะ ปลดล็อกให้อิสระพรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมหาเสียงได้แล้ว โดยเฉพาะพรรคใหม่ๆ ที่อาจเสียเปรียบพรรคเก่าซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนก่อนแล้ว

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่บอกว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมืองก็ยังมีความพร้อม สังเกตได้จากการใช้สื่อโซเชี่ยลต่างๆ เพื่อสื่อสารกับประชาชนในช่วงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองปกติทำกัน

ที่บอกรัฐบาลนี้ยังมีอำนาจเต็มในช่วงของการ เลือกตั้ง เมื่อยังมี คสช.อยู่ก็ยังถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาล และคสช.ยังมีอำนาจสามารถควบคุมหรือกดดันสิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้อยู่ดี

ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของพรรคการเมือง และจะวางใจได้อย่างไรว่าคสช.จะไม่ใช้กลไกใดๆ เข้ามากำกับพรรคการเมืองในช่วงที่มีการหาเสียง จึงไม่ได้โฟกัสที่รัฐบาลแต่อยู่ที่ คสช.ต่างหากที่ควรยุติบทบาทได้แล้ว

โคทม อารียา

อดีตกกต.

ไม่ทราบเจตนาที่รัฐบาลประกาศไทม์ไลน์เลือก ตั้งในเวลานี้ แต่ถ้าไทม์ไลน์ไปถึงวันเลือกตั้งก็โอเค แต่เลือกตั้งแล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องไปถึงเดือนมิ.ย. ถึงจะมีการจัดตั้งรัฐบาล

เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นว่าการจัดตั้ง รัฐบาลต้องใช้เวลาถึง 4 เดือน เพราะ 4 เดือนหมายความว่ารัฐบาลนี้ยังอยู่ในมาตรา 44 ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง มาตรา 44 ควรเก็บไปเลยพอเข้าสู่การเลือกตั้ง

ข้อสังเกตต่อปฏิทินการเลือกตั้ง

โคทม อารียา

เมื่อมีประกาศพ.ร.ฎ.การเลือกตั้งออกมาแล้ว รัฐบาลก็ควรประกาศว่าไม่ใช้มาตรา 44 แล้ว และตามประเพณีก็ควรทำเหมือนรัฐบาลรักษาการทั่วไป ซึ่งเป็นประเพณีที่ใช้กันมากในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาก็ใช้แบบนี้

เมื่อรัฐบาลประกาศไทม์ไลน์ว่ามีเลือกตั้ง วันที่ 24 ก.พ. 62 เราก็ต้องเชื่อตามนั้น แต่หลังจากนั้นอย่าเชื่อไทม์ไลน์มากนัก เพราะหลังจากนั้นไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะหลังวันเลือกตั้งแล้วก็ต้องเคลื่อนตัวไปตามครรลองประเทศประชาธิปไตย

เขาพยายามจะบอกว่าอย่าว่าอะไรเร็วนัก แต่ส่วนตัวก็บอกว่าอย่าทำอะไรที่ผิดครรลองก็แล้วกัน

ส่วนจะมีอะไรเกิดขึ้นเกินที่คาดการณ์หรือมี อะไรที่แปลกใหม่ เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะมีแผนอะไรบ้าง และไม่รู้ว่าพรรคการเมืองจะมีแนวทางอะไรของแต่ละพรรค ดังนั้นเอาวันเลือกตั้งก่อน

แต่ถ้าให้เสนอตอนนี้ขอเสนอง่ายๆ เป็นหลักการที่ทุกประเทศทำกัน คือเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วควรให้พรรคที่มีคะแนนเสียงมากกว่าจัดตั้ง รัฐบาลก่อน ถ้าพรรคอันดับ 1ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นโอกาสของพรรคอันดับ 2 หากจัดไม่ได้ ก็ต้องเป็นพรรคอันดับ 3 อันดับ 4 จัดตั้ง

แต่อย่าไปชิงจัดตั้งรัฐบาลตัดหน้าเขา ซึ่งประเพณีมาก่อน ไม่ใช่สมัย ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และในสมัยนายชวน หลีกภัย ก็พูดเองว่า ให้โอกาสพรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลก่อน เพราะเหมือนเป็นอาณัติจากประชาชน

ส่วนที่รัฐบาลระบุว่าจะปลดล็อกหลังกฎหมาย ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. แต่นักการเมืองมองว่าอาจไปปลดล็อกม.ค.นั้น จะไปพูดให้เขวทำไม ถ้าพูดในทางที่เร็วกว่าก็ควรเอาด้วย ถ้าไปปลดล็อก ม.ค.ก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าตั้งสมมติฐาน เพราะเหมือนไปชี้โพง

ที่บอกว่ารัฐบาลยังมีอำนาจเต็มระหว่างที่ ยังไม่มีรัฐบาลใหม่นั้น เราจะเชื่อเขาหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่อำนาจนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนด้วยว่าจะเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟัง

ถ้าประชาชนไม่ออกมาพูด ไม่ออกมาเรียกร้อง ไม่ออกมาอธิบาย คอยฟังแต่คำอภิปรายของคนที่มีอำนาจ ประชาชนควรออกมาพูด ประชาชนไม่ควรเชื่อฟังในคำสั่งไม่ชอบ

ควรพูดถึงความชอบธรรม ความถูกต้องในครรลองของประชาธิปไตย

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่ง ม.เกษตรศาสตร์

การแถลงลักษณะที่เป็นทางการแบบนี้ คงต้องการสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นกับบรรยากาศทางการเมือง และคิดว่าจะเป็นกำหนดเวลาที่เป็นความแน่นอนและต้องการให้ทุกฝ่ายที่ เกี่ยวข้องกันไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือนานาประเทศที่จับตามองอยู่เกิด ความมั่นใจ

ข้อสังเกตต่อปฏิทินการเลือกตั้ง

ธนพร ศรียากูล

ที่สำคัญกำหนดไปถึงการมีรัฐบาลใหม่ที่ทำให้ ทุกภาคส่วนที่เฝ้ารออยู่ได้วางแผนทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเอง โดยเฉพาะภาคส่วนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องมุ่งหวังให้ภาคส่วนทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนในการขับเคลื่อน

การประกาศไทม์ไลน์มีความสำคัญต่อการสร้าง ความเชื่อมั่นในองค์รวม ปัญหาเศรษฐกิจระดับรากหญ้ายังเป็นปัญหาเรื้อรัง การที่รัฐบาลกำหนดวันเวลาเลือกตั้งที่จะมีรัฐบาลใหม่ที่ชัดเจนเชื่อว่าจะส่ง ผลดีทำให้ภาคเศรษฐกิจรู้ว่าต้องปรับแผนการผลิต การปลูก รวมถึงมีเวลาที่ชัดเจนวางแผนกดดันหรือต่อรองกับรัฐบาลใหม่

ที่สำคัญจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับ ฐานราก เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะมีความคล่องตัวใน เศรษฐกิจฐานรากอย่างแน่นอน

หากพิจารณาจากลักษณะการออกมาแถลงของรองนา ยกฯก็ต้องมองกันแบบให้เครดิตกันไว้ก่อน เพราะการที่ออกมาแถลงแบบนี้แล้วมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก จะเป็นแรงกดดันครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลเอง

แต่การแถลงไม่ได้มีอะไรที่เป็นประเด็นมากไป กว่าการตอกย้ำให้เกิดความเชื่อมั่นโดยเฉพาะกับต่างประเทศ และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากที่ให้เกิดการขับเคลื่อน ตรงนี้คิดว่าเป็นเจตนาหลัก

ส่วนการปลดล็อกที่บรรดานักการเมืองคาดว่าจะ เป็นเดือนม.ค. เห็นด้วยกับบรรดานักการเมืองว่าล่าช้าไป เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอ จริงๆตอนนี้ทุกพรรคเดินเครื่องกันเต็มที่แล้ว การที่รีบปลดล็อกได้ตั้งแต่วันนี้เลยยิ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นในรัฐบาลสูง ขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน

ในทางกฎหมายรองนายกฯพูดถูกรัฐบาลนี้ไม่ใช่ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้นโดยสถานภาพทางกฎหมายก็คือรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แต่อย่างไรก็ตามถ้าตั้งใจที่จะเข้ามาปฏิรูปการเมืองหรือสร้างตัวอย่าง ประเพณีที่ดีงามให้ระบบการเมือง มาตรฐานในทางปฏิบัติจะต้องสูงกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นแม้สถานภาพทางกฎหมายไม่ใช่รัฐบาล รักษาการ แต่เป็นยิ่งกว่ารัฐบาลรักษาการเพราะต้องระมัดระวังตัว และต้องไม่ใช้อำนาจทั้งปวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจที่จะก่อให้เกิดผล ผูกพันในอนาคตซึ่งสมควรต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน