อดีตป.ป.ช.แฉเอง! พวกหนีลาออกบางคน แสดงทรัพย์สิน กลัวโดนเปิดสมบัติ เมียยันกิ๊ก

ลาออกหนีกฎหมาย แสดงทรัพย์สิน / เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประกาศของคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 และจะมีผลบังคับในวันที่ 2 ธ.ค. 2561นี้ ว่า

ในฐานะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ..ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ ในฐานะ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ. .. ของสนช.

ตนเห็นว่าประกาศป.ป.ช.ดังกล่าว ที่ให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ นายกสภา มหาวิทยาลัยและกรรมการมหาวิทยาลัย อธิการบดีและรองอธิการบดี ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน นั้นยืนยันว่าป.ป.ช. เพราะเป็นเรื่องที่ควร สมเหตุสมผลแล้ว

เนื่องด้วยเหตุผล คือ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง นั่นหมายถึงกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ถือเป็นคำเฉพาะตามกฏหมายระบุชัดเจนว่ามีหน้าที่ต้องยื่นตามม.102 ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาถือว่าเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งนี้ นายกสภา และกรรมการมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง , มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล

พิจารณาแต่งตั้งถอดถอนนายกสภาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ศาสตราจารย์และศาสตราจารย์พิเศษ อธิการและรองอธิการ ฯลฯ , มีอำนาจในการบริหารสำนักงาน มีหน้าที่ออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศของมหาวิทยาลัยได้ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลและการบริหารการเงิน การพัสดุและทรัพย์สินมหาวิทยาลัย อนุมัติในการจัดตั้งหรือรวมยุบเลิกส่วนงานภายในได้

ถือเป็นอำนาจใหญ่แล้วจะมาบอกว่า ไม่มีอำนาจได้อย่างไร หรือจะมาบอกว่ามีเบี้ยประชุมไม่เท่าไหร่ต่อเดือนคงไม่ได้

เมื่อถามว่า ในเมื่อมีเหตุผลสมควรยื่นแล้วทำไมนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.จึงลาออก นายประสาท กล่าวว่า ในส่วนกรณีของนายมีชัยนั้นตนคงไปตอบแทนไม่ได้ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ขอไม่ก้าวล่วง

นายประสาท กล่าวว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในกฎหมายใหม่นี้ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยเฉพาะในมาตรา 106 ที่ระบุถึงการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ ของตำแหน่งที่ต้องยื่นคือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. สว. ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงาน

ซึ่งหมายถึงนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย ดังนั้นจึงทำให้หลายคนเกิดความกลัวที่จะต้องยื่น และกลัวที่จะถูกเปิดเผย

ม.106 นี้เป็นดาบที่สอง ที่ป.ป.ช.ถือเป็นหมัดเด็ด เปิดมาก็วงแตกทันที เพราะหลายคนยังไม่รู้ว่าม.106 นั้นแรงกว่า ม.102 เสียอีก นอกจากคนกลัวที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินแล้วยังกลัว ที่จะต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย เพราะในการเปิดเผยนั้นทั้งของตัวเองและคู่สมรส และคู่ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ทำไมเวลาที่จะมีผลกระทบถึงตัวเองโดยตรงกลับโวยวายไม่อยากยื่นหรือแสดงบัญชีทรัพย์สิน แล้วจะอยู่เหนือการตรวจสอบได้อย่างไร

ในเมื่อเราจะต้องทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นประกาศของป.ป.ช. ดังกล่าวผมถึงเห็นด้วย เพราะป.ป.ช.ก็มองแล้วว่าตำแหน่งใดที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจและหาผลประโยชน์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ป.ป.ช. ได้พิจารณาจากสถิติเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน