รัฐบาลปริ่มน้ำ ยุคทองส.ส.งูเห่า

รัฐบาลปริ่มน้ำ ยุคทองส.ส.งูเห่า – ถึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุชาติ ตันเจริญ และนายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรองประธานสภา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมแล้วก็ตาม

แต่การต่อรองระหว่าง 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล ยังคงดำเนินไปชนิดดุเดือดเลือดพล่าน

กระทั่งเกิดความไม่แน่นอน ว่าพรรคแกนนำจะสามารถ “ปิดดีล” ได้ก่อนหรือหลังประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

รัฐบาลปริ่มน้ำ ยุคทองส.ส.งูเห่า

แน่นอนว่าตามประเพณียึดถือปฏิบัติกันมา จำเป็นที่พรรคแกนนำต้องดำเนินการเจรจากับพรรคร่วม ในการจัดสรรปันส่วนโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีเสร็จสิ้นลงตัวให้ได้ก่อน จากนั้นจึงเดินหน้าไปสู่ขั้นตอนโหวตเลือกตัวผู้นำรัฐบาล เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐเองก็อยากให้เป็นแบบนั้น

ตามปฏิทินเดิมที่วางไว้จากทางฝั่งพรรค สืบทอดอำนาจ คสช. ต้องการให้การโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ เกิดขึ้นและจบลงภายในเดือนพฤษภาคม แต่ล่าสุดขั้นตอนสำคัญดังกล่าว ต้องยืดออกไปเป็นวันที่ 5 มิถุนายน

แม้ประตูทางฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคต ใหม่จะยังเปิดกว้างไว้ให้ 2 พรรคการเมืองตัวแปรสำคัญ ที่จะมาร่วม “ปิดสวิตช์ คสช.” จัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชา ธิปไตย ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60

แต่การที่ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเทเสียง สนับสนุนให้นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุข ฝ่ายนิติบัญญัติ แทนที่จะเป็นนายสุชาติ ตันเจริญ ตามที่พรรคมีมติออกมาก่อนหน้า

ก็สะท้อนให้เห็นถึงกลเกมต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ที่ไม่ธรรมดา

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า การที่พรรคพลังประชารัฐแหกประเพณีการเมือง แต่เดิมที่พรรคแกนนำตั้งรัฐบาลต้องเป็นฝ่ายยึดเก้าอี้ประธานสภาไว้กับตัวเอง เพื่อ เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ได้กำหนดตัวบุคคลไว้แล้ว

เป็นการเดินเกมผิดพลาดอย่างแรก ส่งผลทำให้แทนที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่า ในการเจรจากับพรรคต่างๆ กลับกลายเป็นฝ่ายตกเป็นรอง จนต้องหาทางพลิกเกม แต่ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้น

ความผิดพลาดอย่างที่สอง คือ การที่พรรคพลังประชารัฐพยายามตัดเกมพรรคฝ่ายต่อต้านสืบทอดอำนาจ ด้วยการปล่อยข่าวว่าสามารถเจรจาปิดดีลกับ 2 พรรคตัวแปร ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย และพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ เป็นผลสำเร็จ

สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม 20 พรรคด้วยจำนวนส.ส. 254 เสียง และอาจถึง 260 เสียง หากรวม“งูเห่า”จากฝ่ายตรงข้ามเข้าไปด้วย

จากภาพแกนนำพรรคพลังประชารัฐ นำทีมโดยนายอุตตม สาวนายน ยกขบวนขันหมากไปยังพรรคประชาธิปัตย์ จับเข่าพูดคุยกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค

ต่อด้วยพรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก่อน ออกมาแถลงข่าวร่วมกันชื่นมื่น

แต่ก็เป็นความชื่นมื่นที่มาพร้อมกับกระแส ข่าว พรรคพลังประชารัฐยอมตกลง ยกโควตากระทรวงเกรดเอและเอบวก ให้ทั้ง 2 พรรคตัวแปร หลักๆ ไม่ว่ากระทรวงคมนาคม สาธารณสุข การท่องเที่ยวและกีฬา ให้กับพรรคภูมิใจไทย กระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ นอกเหนือจากเก้าอี้ประธานสภาของนายชวน หลีกภัย ที่ได้ไปก่อนแล้ว

ตรงนี้เองเป็นจุดพลิกผัน จากความราบรื่น เป็นความวุ่นวาย

เมื่อมีข่าวแกนนำกลุ่มการเมืองบางกลุ่มใน พรรคพลังประชารัฐ ไม่พอใจกลุ่ม 4 กุมารซึ่งทำหน้าที่ตัวแทนเดินสายเจรจา เที่ยวไปยกกระทรวงเกรดเอ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่แกนนำกลุ่มประกาศจองไว้แล้วตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง

ล่าสุดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ถึงกับเปิดแถลงข่าวประกาศพร้อมต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นรมว.เกษตรฯ พร้อมกับโยนลูกให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะว่าที่นายกฯ สมัยที่สอง เป็นคนตัดสินในเรื่องนี้

เมื่อบรรยากาศเปลี่ยนจากหวานเป็นขม

พรรคประชาธิปัตย์เริ่มจากการประกาศเลื่อน ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคกับส.ส.พรรคเพื่อตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลัง ประชารัฐ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด อ้างว่าเพื่อรอให้พรรคแกนนำเคลียร์ปัญหาภายในให้จบก่อน

นอกจากเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ ที่เป็นปัญหา ข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ค่อยพอใจท่าที “ผู้นำตัวจริง” พรรค พลังประชารัฐ ที่แสดงท่าทีอิดออดต่อเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 อีกด้วย

เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็น เงื่อนไขสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์จะใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้ตัว เองในการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งเรื่องเก้าอี้รมว.เกษตรฯ และข้อเสนอว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกมการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล เกิดอาการชอร์ตไปดื้อๆ จนพรรคพลังประชารัฐเริ่มเกิดความหวาดหวั่นว่า อาจถูกบางพรรคเล่น “ตลบหลัง” สะเทือนไปถึงแผนสืบทอดอำนาจโดยรวม

ถึงจะอวดอ้างว่ารัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวก เรา แต่การที่พรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง 116 เสียง พ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า บริหารประเทศผ่านมา 5 ปี คสช.เดินทางมาถึงช่วงขาลงอย่างแท้จริง

จนต้องอาศัยสูตรคำนวณฉบับพิสดาร แจกเก้าอี้ส.ส. บัญชีรายชื่อให้กับพรรคขนาดเล็กจำนวน 11 พรรค พรรคละ 1 ที่นั่ง เพื่อนำไปผนวกรวมกับพรรค 250 ส.ว.ที่ตั้งมากับมือ ให้ได้อย่างน้อย 376 เสียง สามารถโหวตผ่านตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปได้

แน่นอนว่าพรรคแกนนำสืบทอดอำนาจ กำลังตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอย่างไร

พรรคการเมืองระดับ “เขี้ยวลากดิน” อย่างประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ย่อมมองออกอย่างทะลุปรุโปร่ง

ถึงจะมีความพยายามปล่อยข่าวสารพัดต่างๆ นานาเพื่อปราม 2 พรรคตัวแปร ไม่ให้อาละวาดต่อรองมากนัก

ไม่ว่าข่าวการเตรียมรื้อโควตารัฐมนตรี ทวงคืนเก้าอี้คมนาคม-เกษตรฯ พร้อมเดินหน้าผนึกเสียง 250 ส.ว. โหวตพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ทันทีในวันที่ 5 มิ.ย. โดยไม่รอผลเจรจาว่า ทั้ง 2 พรรคจะยอมหรือไม่

ไม่ว่าข่าวความพร้อมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไปจนถึงการ“ยุบสภา”ในที่สุด

ไม่ว่าการปล่อยข่าวปฏิวัติซ้อน ในช่วงการเมืองฝุ่นตลบ ใช้อำนาจมาตรา 44 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยุบพรรค การเมืองทำให้ส.ส.ทั้ง 500 ต้องพ้นสภาพ เปิดทางให้ คสช.ได้อยู่ในอำนาจต่อโดยไม่มีกำหนด

แต่นักการเมืองด้วยกันเชื่อว่า ในที่สุดก่อนวันที่ 5 มิถุนายนจะมาถึง พรรคพลังประชารัฐจะต้องเป็นฝ่ายถอยอีกก้าวใหญ่ ด้วยการยอมประเคนเก้าอี้รมว.เกษตรฯ-พาณิชย์ ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนตามที่ตกลงกันไว้แต่แรก เช่นเดียวกับมอบ รมว.คมนาคม-สาธารณสุข-การท่องเที่ยวและกีฬาให้กับพรรคภูมิใจไทย

โดยปล่อยให้แกนนำกลุ่มในพรรคตัวเองต้อง “กลืนเลือด” เป็นระเบิดเวลาพร้อมตูมตามขึ้นได้ทุกเมื่อ

เพราะต้องไม่ลืม ต่อให้พรรคพลังประชารัฐจะปิดดีลกับพรรคประชาธิปตย์-ภูมิใจไทย ผลักดันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ แบ่งโควตาลงตัว จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จลุล่วง

ก็ยังจะเป็นรัฐบาล“เสียงปริ่มน้ำ”อยู่ดี

ยิ่งหากถอดบทเรียนจากเกมโหวตเลือกประธานและ รองประธานสภา ที่เสียงส.ส.ฝั่งแพ้กับฝั่งชนะทิ้งห่างกัน ไม่มาก โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาคนที่ 1 แพ้ชนะห่างกันเพียงแค่ปลายจมูก 248 ต่อ 246 เสียง

ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง รัฐบาลหน้าอาจต้องมี “รายจ่าย” มหาศาลในการต่ออายุ ไม่ให้ สั้นเกินไปจนทำบางอย่างไม่ทัน

ตลอดช่วงเวลารัฐบาลปริ่มน้ำนี้เอง จึงเป็นยุคทองของส.ส.งูเห่าอย่างแท้จริง

..อ่าน..

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน