7 พรรคฝ่ายค้าน ตั้ง ‘ทวี สอดส่อง’ ประธานคณะทำงาน เดินสายดึงภาคประชาชน กดดันแก้ รธน. โต้ทำการเมืองบนท้องถนน

7 พรรคฝ่ายค้าน – เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคเพื่อชาติ (พช.) พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) และพรรคพลังปวงชนไทย แถลงภายหลังการประชุม 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เพื่อให้การทำงานของฝ่ายค้านมีประสิทธิภาพ ต้องทำให้สังคมรับรู้ร่วมกัน ทำงานอย่างมีเหตุมีผล ทั้งการตรวจสอบอำนาจรัฐ เราจึงมีมติจากที่ประชุมว่าเราจะตั้งคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) โดยให้ส.ส.ของแต่ละพรรคมาทำงานร่วมกัน

ส่วนที่สอง คือ การตั้งคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนขึ้นมาทำงานร่วมกับประชาชน พรรคละ 2 คน มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นประธาน มีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการคณะทำงาน

โดยคณะทำงานจะลงไปประสานกับภาคประชาชน นักวิชาการและส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้กับประเทศ ตรวจสอบคุณสมบัตินายกฯ ส.ส.และส.ว. รวมถึงสถานการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น โดยเรื่องใดที่คิดว่ามีความสำคัญและต้องหาทางออกก่อนก็จะมีการขยายผล โดยให้ตัวแทนพรรคระดับหัวหน้า หรือแกนนำพรรคร่วมประชุมและตัดสินใจ

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า สัปดาห์หน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นเจ้าภาพประชุม เมื่อดูจากสถานการณ์แล้วเราน่าจะประชุมกันทุกสัปดาห์ โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพไปเรื่อยๆ

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เราไม่มีเจตนาลงไปทำการเมืองบนท้องถนนแบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะทำการเมืองแบบใหม่ที่เชื่อมโยงการทำงานในสภากับนอกสภา เชื่อมโยงการทำงานระหว่างส.ส. กับประชาชน

พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องพยายามให้เกิดการรับผิดจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช.ผ่านคำสั่งต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ เราจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นเราต้องมียุทธวิธี เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบมาให้แก้ไขยาก พรรคอนาคตใหม่และพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องสร้างความเข้าใจ และสร้างกระแสให้ได้ก่อน

นายชัยธวัช กล่าวว่า จากนี้เป็นหน้าที่ของเราต้องไปทำฉันทามติร่วมกับประชาชน เพื่อให้เกิดกระแสกดดันไปถึงสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะไปแก้บางมาตราก่อนเพื่อทำประชามติใหม่อีกครั้งว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน