อดีตกุนซือกรธ. แทงสวน ป้อง บิ๊กตู่ ไม่ต้องลาออก ย้ำถ้าศาลชี้ว่าผิด คสช.จะกลับมา

วันที่ 10 ส.ค. นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีฝ่ายค้านเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก จากกรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฎิญาณตนไม่เป็นไปตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการถวายสัตย์ปฎิญาณไม่ครบถ้วนจะผิด หรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และไม่มีบทลงโทษบัญญัติไว้

แต่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่ารัฐบาลจะกระทำการใดๆ ที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง เพียงแต่อาจไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้น จากนี้ต้องทำให้สมบูรณ์

“มาตรา 5 วรรคสอง ระบุว่าหากการกระทำใดไม่เข้าข่ายมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ให้ยึดตามจารีตประเพณีการปกครองเดิมที่เคยทำมา ซึ่งในอดีตไม่เคยมีนายกฯคนใดถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนแล้วต้องลาออกเช่นกัน ส่วนตัวจึงไม่คิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องลาออกจากนายกฯ” นายเจษฎ์ กล่าว

นายเจษฎ์ กล่าวว่า สำหรับวิธีแก้ปัญหามี 3 แนวทางคือ 1.อยู่เฉยๆ เพราะถือว่าได้ถวายสัตย์แล้ว 2.เมื่อมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและอัยการสูงสุด ทั้ง 2 หน่วยงานนี้สุดท้ายต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้น รอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด และ 3.หากเห็นว่าไม่ครบถ้วนจริง นายกฯ ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยว่าต้องถวายสัตย์อีกครั้งหรือไม่ หรือจะมีพระราชอัชฌาสัยให้ดำเนินการอย่างไร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อนอดีตที่ปรึกษากรธ. กล่าวว่า การจะดำเนินการเอาผิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่น่าจะเข้าข่าย เพราะไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน หรือไม่ได้ดูหมิ่น เพียงแต่กระบวนการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งนายกฯ บอกแล้วไม่มีเจตนา และคงไม่มีใครมีเจตนาขัดรัฐธรรมนูญถวายสัตย์ไม่ครบ

ซึ่งการถวายสัตย์ ตามมาตรา 161 ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้สมบูรณ์ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องทำให้คนยอมรับด้วยเท่านั้น

เมื่อถามถึงข้อสังเกตหากรัฐบาลดำเนินการตามมาตรา 161 ไม่สมบูรณ์ จะถือว่ามีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ และสิ่งที่ดำเนินการระหว่างนี้จะถือเป็นโมฆะะหรือไม่ อดีตที่ปรึกษากรธ. กล่าวว่า ทั้งหมดต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ความเห็นที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ ถือเป็นการสมมติขึ้นของแต่ละบุคคล เพราะเรื่องการถวายสัตย์ไม่สมบูรณ์ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ไม่ใช่ว่าไม่เคยถวายสัตย์ เพียงแต่ไม่สมบูณ์ รัฐบาลไม่ใช่ทำเรื่องที่ไม่เคยเกิดให้เกิดขึ้น เพียงแต่ต้องทำให้สิ่งที่ไม่สมบูรณ์มีความสมบูรณ์ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทางร้าย เท่ากับการแถลงนโยบายจะต้องกลายเป็นศูนย์ รัฐมนตรีทุกคนจะถือว่ายังไม่ได้ปฎิบัติหน้าที่ ยังไม่มีรัฐบาล

ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เมื่อยังไม่มีรัฐบาลจะถือว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อ ดังนั้น คสช.จะต้องกลับมาบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยากให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญจะดีที่สุด” นายเจษฎ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน