เล็งปรับเพิ่มเบี้ยคนชรา กลุ่มมีรายได้น้อย จาก 600-1,000 บาท เป็น 1,200-1,500 บาท คาดกว่า 2 ล้านรายอยู่ในข่าย คลังเตรียมผันงบฯ จากกลุ่มผู้สูงอายุฐานะดี 5 ล้านรายที่สละสิทธิ์ มาจ่ายให้ เตรียมเสนอครม.ไฟเขียว หลังลงทะเบียนคนจนรอบ 2 เสร็จกลางพ.ค. เพื่อไทย-ปชป.รับได้เลือกตั้งกลางปี 2561 แนะไม่ต้องใช้เวลาเต็มเพดานตามรัฐธรรมนูญกำหนด ภูมิใจไทยเตือน ถ้ายื้อต่อให้ระวังแรงกดดันทั้งภายใน-ภายนอก “ป๋าเปรม”เปิดบ้านสี่เสาฯ ให้ป.ป.ช.รดน้ำสงกรานต์ เป็นกำลังใจปราบโกง

รัฐบาลจ่อเพิ่มเบี้ยคนชรา

วันที่ 13 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลมีแนวคิดเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายละ 1,200-1,500 บาท จากเดิม 600 บาทต่อเดือน เพื่อให้เหมาะสมกับการครองชีพในปัจจุบัน ระหว่างนี้กำลังศึกษารายละเอียด เช่น การระดมเงินทุนจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือกองทุนสนับสนุน การกีฬา รวมถึงผู้สูงอายุที่มีฐานะดีอยู่แล้วและยอมเสียสละเบี้ยยังชีพคนชราอีกส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็นกองทุนผู้สูงอายุ

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า กองทุนผู้สูงอายุจะนำเงินไปเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่คนชราที่มีประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนชราที่ยากจนหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000,000 คน จากการสำรวจตามโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหลังการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบที่ 2 แล้วก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำให้คนในครอบครัวใช้โอกาสวันหยุดสงกรานต์นี้เชิญชวนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไปลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐได้จนถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้

สร้างงาน-เพิ่มรายได้คนแก่

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นอกจากเรื่องเบี้ยยังชีพที่เป็นรายได้ประจำเดือนของผู้สูงอายุแล้ว รัฐบาลยังดูแลเรื่องการประกอบอาชีพด้วย โดยปีนี้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่ม 39,000 อัตรา โดยเฉพาะในชนบทผ่านวิสาหกิจชุมชน และออกมาตรการจูงใจให้องค์กรต่างๆ จ้างงานผู้สูงอายุ โดยสามารถนำรายจ่ายไปหักภาษีได้ถึง 2 เท่า รวมทั้งพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนด้านที่พักอาศัยของผู้สูงอายุนั้นมีการดำเนินงานหลายรูปแบบ เช่น โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ที่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ในที่เดียวกัน เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล ฯลฯ หรือโครงการบ้านกตัญญู ที่มีรูปแบบและสภาพแวดล้อมเหมาะกับการพักอาศัยของ ผู้สูงอายุและลูกหลาน เป็นต้น นายกฯ อยากให้คนไทยมีความสุข โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนมากขึ้น หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยมีแผนงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำแผนดูแลผู้สูงอายุฉบับที่ 2 ปี 2560-2564 กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนสุขภาพแห่งชาติปี 2560-2564 และกระทรวงแรงงานจัดทำแผนจัดหางานให้ ผู้สูงอายุปี 2560-2564

แจกเหรียญชูเกียรติคนสละเบี้ย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเบี้ยชราภาพให้กับผู้สูงอายุที่เป็นผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้ไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยการเพิ่มเบี้ยให้ผู้สูงอายุนั้นต้องดูยอดผู้เสียสละสิทธิ์รับเบี้ยชราภาพจากผู้สูงอายุที่มีฐานะว่ามีจำนวนเท่าไร สำหรับปัจจุบันมีผู้สูงอายุรับเบี้ยชราภาพ 8 ล้านราย จากผู้สูงอายุทั่วประเทศ 10 ล้านราย คิดเป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลต้องสนับสนุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่มีฐานะประมาณ 5 ล้านราย และจากข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในรอบแรกพบผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนราว 2 ล้านราย

“มีผู้สูงอายุ 5 ล้านรายที่มีฐานะดีรับเบี้ยชราภาพ หากมีการสละสิทธิ์ทำให้มีเงินมาให้คนแก่ที่เป็นคนจนเพิ่มขึ้น จะได้มีเงินไว้ใช้มากขึ้นและทางกระทรวงการคลังจะมีเหรียญเชิดชูเกียรติให้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้เสียสละในครั้งนี้” นายกฤษฎากล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจากลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในรอบที่สองระหว่างวันที่ 3 เม.ย.-15 พ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่ามีผู้สูงอายุที่เป็นผู้มีรายได้น้อยอยู่จำนวนกี่ราย โดยจากผลการศึกษารายได้ที่ผู้สูงอายุจะได้รับไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,500 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันเบี้ยชราภาพอยู่ที่ 600-1,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยนอกจากผู้สูงอายุที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือการได้รับสวัสดิการของรัฐแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะตั้งเงื่อนไขให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนรับสวัสดิการมีสัญญาใจในการช่วยเหลือและทำประโยชน์ให้แก่สังคมและภาครัฐในอนาคตด้วย

เพิ่มสวัสดิการคนจน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนรับสวัสดิการของรัฐผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, สำนักงานเขตในกรุงเทพฯ และคลังจังหวัด ปรากฏว่ามีผู้มาลงทะเบียนจำนวนมาก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง จึงมอบหมายให้ สศค.ศึกษาแนวทางให้สิทธิประโยชน์สวัสดิการ เพื่อจำแนกเป็นรายภูมิภาคที่มีความแตกต่างกัน แต่เบื้องต้นได้ให้สวัสดิการพื้นฐานอยู่แล้วทั้งลดค่าน้ำประปา ลดค่าไฟฟ้า และรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี

ขณะที่สวัสดิการเพิ่มเติม เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ยังต้องพิจารณาดูว่าเป็นการให้เอกชนได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด แต่ความตั้งใจของรัฐต้องการลดภาระให้กับประชาชน เช่นเดียวกับเรื่องประกันภัย 99 บาท หากเป็นการซื้อประกันกับองค์กรรัฐจะไม่มีปัญหา แต่กังวลว่าจะมีประโยชน์กับภาคเอกชนจึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตามทาง สศค.ต้องศึกษาให้เสร็จภายใน 1 เดือน โดยนำจำนวนผู้มาลงทะเบียนและผ่านคุณสมบัติว่ามีจำนวนเท่าไร ต้องใช้งบประมาณเท่าไรและให้สวัสดิการอย่างไรบ้าง ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

เพื่อไทยพร้อมเลือกตั้งตลอด

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการติดตาม ร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ระบุการเลือกตั้งจะมีช่วงกลางปี”61 ว่า ถ้าดูตามเงื่อนเวลาในรัฐธรรมนูญเรื่องการออกกฎหมายลูกทั้งหลาย การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นในปี “61 เพียงแต่จะเกิดในช่วงใด ผู้เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการเวลาได้เพราะกฎหมายลูก 10 ฉบับ ทำแค่ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เร็ว ก็สามารถเลือกตั้งได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบทั้ง 10 ฉบับ ก็ขึ้นอยู่กับที่ผู้ดูแลบ้านเมืองว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องก็ทำการบ้านไว้ล่วงหน้ากันบ้างแล้ว ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ร่างพ.ร.บ. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. หากประกาศใช้ก็ต้องเลือกตั้งใน 150 วันโดยไม่ต้องรอฉบับอื่น

ส่วนพรรคเพื่อไทยพร้อมเสมอ รอเพียงแต่โอกาสที่จะเปิดให้มีประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่

นายสามารถกล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญออกแบบมาไม่ให้พรรคหนึ่งพรรคใดได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด ซึ่งจะเป็นระบบแบบแบ่งสันปันส่วน ดังนั้น โอกาสจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวก็คงลำบาก ก็ต้องร่วมกับพรรคอื่นเป็นรัฐบาลผสม และด้วยความที่เป็นรัฐบาลผสม สมมติผ่านรอบแรกพรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจจากการผ่านสภา ให้ผู้ที่เราเสนอชื่อเป็นนายกฯ สมมติผ่านได้ ก็ต้องเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งถ้าผ่านไม่ได้รอบแรก ในรอบสองที่จะเลือกคนเป็นนายกฯ ก็จะมีรายชื่อคนนอกถูกเสนอเข้ามาด้วย และมีส.ว.ร่วมโหวต ทั้งนี้ กติกาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางเงื่อนไขและดักไว้จำนวนมาก ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไหนก็ตาม หรือแม้กระทั่งคนนอกจะมาเป็น นายกฯ ก็พยากรณ์ได้ว่าจะต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความยากลำบาก คงจะล้มลุกคลุกคลานไม่มีเสถียรภาพ

นายสามารถกล่าวว่า ถ้าเรามีโอกาสได้เป็นรัฐบาลจะพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ถ้าทำไม่ได้ไม่ใช่เพราะเราทำไม่ได้เองแต่เนื่องจากกติกาในรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนั้น ลำบากทั้งการทำนโยบายก็ต้องถูกโยงไปกับยุทธศาสตร์ชาติ บทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น การจะทำนโยบายอะไรเพื่อประชาชน เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ บางทีมันทำไม่ได้แบบที่ผ่านมา ก็ค่อนข้างจะอยู่ยากกันทั้งนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะปฏิเสธ ถ้าได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าทำไม่ได้ไม่ใช่เพราะเราไม่ตั้งใจทำ แต่เนื่องจากกติกาเขาออกแบบมาอย่างนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นก็ต้องเจอปัญหาเดียวกันทั้งหมด

ชี้สามารถร่นเวลาได้เร็วขึ้นอีก

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายกฯ ระบุเลือกตั้งอาจมีขึ้นกลางปี “61 ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้วิตกกังวลว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว เพียงแต่มีข้อสังเกตว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญสามารถทำให้เร็วขึ้นได้ เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องทำให้เสร็จภายในเมื่อนั้นเมื่อนี้ เช่นอาจใช้เวลาเพียง 120 วันแทนที่ต้องทำถึง 240 วัน อย่าลืมว่าตอนนี้มีสภาเดียว และเป็นสภาจากการแต่งตั้งทั้งนั้น

นายชูศักดิ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับกฎกติกาตามกฎหมายลูกที่มีความเป็นธรรมเป็นสำคัญ ควรร่างขึ้นเพื่อจรรโลงการเมืองให้พัฒนาต่อไปไม่ใช่มุ่งเน้นไปที่การทำลายล้าง กติกาที่มีความแน่นอนชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ร้าวฉานในการบังคับใช้เหมือนในอดีต ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดได้เมื่อไรเราเชื่อว่าถ้าทำได้เร็วกว่าระยะเวลาสิ้นสุดที่กำหนดไว้ก็น่าจะเป็นผลดีต่อสถานการณ์ของประเทศที่เป็นอยู่ขณะนี้ อย่าลืมว่าการเลือกตั้งคือหนทางหนึ่งในการนำประเทศไปสู่วิถีทางประชาธิปไตยแม้จะไม่เต็มร้อย แต่ก็คงจะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศซึ่งตกต่ำลงอย่างมากได้ในระดับหนึ่ง

ภท.เตือนยื้อระวังเจอกดดัน

นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีนายกฯ ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งกลางปี “61 ว่าประเทศมีความชัดเจนขึ้นหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และหลังจากนี้การออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ยังต้องใช้เวลา ซึ่งก็อยู่ในห้วงเวลาตามโรดแม็ป ดังนั้น ในฐานะพรรคการเมืองก็เข้าใจดี การจะมีการเลือกตั้งในช่วงกลางปีหน้า จึงเป็นความเหมาะสม และรับได้ และเข้าใจในสถานการณ์ เพียงแต่อยากฝากรัฐบาลว่าการเลือกตั้งยิ่งช้าไปโดยไม่มีเหตุผลยิ่งอาจได้รับความกดดันทั้งจากภายในและต่างประเทศได้เช่นกัน

ปชป.ไม่ขัดข้องเลือกตั้งกลางปี”61

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีนายกฯ ระบุกลางปี”61 จะมีการเลือกตั้งว่า เป็นการตอบตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งสามารถทำให้เร็วหรือช้าได้แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไม่ให้มีการเลือกตั้งได้ ที่นายกฯ พูดเป็นกรอบเวลา แต่เรื่องการเลือกตั้งสามารถทำให้ระยะเวลาสั้นได้ นอกจากนี้การพูดของนายกฯ ถือเป็นหลักประกันได้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่กล้าคว่ำ พ.ร.บ. พรรคการเมืองและร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพราะถ้าถ้าหากคว่ำจะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561 และไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าจะทำอย่างไร

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญกำหนดที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงกลางปีคือช่วงมิ.ย.-ก.ย. 61 ถ้าจะยืดเวลาออกไปที่สุดไม่น่าเกิน ต.ค. แต่จะย่นระยะเวลาเลือกตั้งให้เร็วกว่านี้คงไม่ได้ ซึ่งเลือกตั้งกลางปีพรรคประชาธิปัตย์ไม่ขัดข้องอะไร เพราะถือเป็นการปฏิบัติตามกรอบรัฐธรรมนูญกำหนด ขณะเดียวกันอยากจะขอติงไว้ว่าไม่ควรสร้างปัญหาด้วยการใช้เทคนิคทางกฎหมาย ยืดระยะเวลาออกไปอีก

มาร์คหวั่นส.ว.ผูกปมใหม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเมืองหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ว่า ขณะนี้พรรคการเมืองยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของคสช. แต่คาดว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้องรอกฎหมายพรรคการเมืองก่อนจึงจะเห็นความเคลื่อนไหวการเมืองที่ชัดเจน 2-3 เดือน จากนี้น่าจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง การปรับตัวพรรคการเมืองจะใช้เวลาประมาณ 90-120 วัน ซึ่งตามปฏิทินเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องส่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดภายใน 240 วัน แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กรอบเวลาเต็มเพดาน อย่าตั้งหลักว่าต้องใช้เต็มเพดานให้ใช้เท่าที่จำเป็น และไม่ใช่ว่าจะไปเร่งรัดจนเกิดปัญหา โดยการเร่งส่งกฎหมายกกต. กับพรรคการเมืองก่อนเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว จากนั้น ก็ดูตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งตามตารางเวลาก็น่าจะไปได้ โดยอาจไม่ต้องใช้ถึง 240 วัน ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นราวเดือน ส.ค.2561 ตามที่คาดกันหรือไม่นั้น ไม่ขอออกความเห็นเพราะกรอบเวลาที่ออกมาใช้คำว่าไม่เกิน หากทำได้เร็วทุกอย่างก็อาจจะเร็วขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตามความตั้งใจของผู้เขียนรัฐธรรมนูญหวังได้การเมืองแบบใหม่ แต่ปัญหาการเมืองไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่เกิดจากพฤติกรรมของคนในแวดวงการเมือง จึงไม่มีหลักประกันว่าเขียนกติกาแบบนี้แล้วจะแก้ได้ถ้าพฤติกรรมแบบนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญคือต้องระวังว่าการวางกลไก เช่น มีส.ว.ที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ระมัดระวังจะเป็นปมความขัดแย้งใหม่ได้ด้วย จึงเห็นว่าสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องช่วยกันกดดันให้การเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่กติกาอย่างเดียว แต่อยู่ที่พลังทางสังคมจะช่วยกันกดดันไม่ให้นักการเมืองทำตัวเหลวไหล ใช้อำนาจมิชอบทุจริตคอรัปชั่นหรือขัดแย้งกันแบบไม่มีเหตุผล ถ้าสังคมสามารถกำกับได้จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด รัฐบาลต้องรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ที่ผ่านมายังทำค่อนข้างน้อย

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตอนที่ตนไป ปยป.ได้เตือน เพราะมีความพยายามว่าต้องมาทำข้อตกลงระหว่างพรรคการเมือง ซึ่งตนบอกว่าต้องเอาส.ว.มาทำข้อตกลงด้วยว่าอย่าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน จึงจะเป็นหลักประกัน 250 คน ต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนปวงชนไม่ใช่ตัวแทนของคนที่ตั้งหรือสรรหามา ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ถ้าทำตัวเป็นพรรคการเมืองจะเกิดความขัดแย้ง ดังนั้น ต้องทำตัวตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ควรจะเป็น โดยต้องไม่ลืมว่าแม้จะเลือกนายกฯได้ ก็ไม่สามารถร่วมประชุมส.ส.ในเรื่องสำคัญทุกเรื่องได้ ถ้าตั้งนายกฯที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ยอมรับก็อยู่ไม่ได้จะเป็นความขัดแย้ง แต่เรื่องเหล่านี้พูดล่วงหน้ายาก ต้องรอให้ถึงเวลาที่มีบรรยากาศเลือกตั้ง

“ป๋า”ให้กำลังใจปปช.-ชี้งานเสี่ยง

ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดโอกาสให้พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. นำคณะกรรมการป.ป.ช. ทั้งหมดประกอบด้วย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ นายปรีชา เลิศกมลมาศ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง พล.อ.บุญวัจน์ เครือหงส์ และ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. เข้ารดน้ำขอพรเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560

พล.ต.อ.วัชรพลเผยว่า ในโอกาสนี้พล.อ.เปรม ให้โอวาทแก่ทุกคนว่า ขอให้กำลังใจในการทำงานกับทุกคน งานของ ป.ป.ช.นั้นเป็นงานยากและเสี่ยง จึงอยากให้ทุกคนรับรู้และช่วยกัน ในเมื่อตัวเราไม่โกงญาติพี่น้องก็ต้องไม่โกง และต้องดูแลไม่ให้คนอื่นๆ โกงด้วย และย้ำว่าทำอย่างไรจะให้ทุกคนช่วยกันลุกขึ้นมาช่วยเป็นหูเป็นตาและไม่ยอมที่จะให้มีคนโกงอยู่ในบ้านเมือง ของเรา

ปปท.ชี้ฟ้องคดีข้าวเพิ่มเติมมิ.ย.

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรียกค่าเสียหายในคดีโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ กว่า 987 คดี ว่า กระบวนการไต่สวนโดยอนุกรรมการมีความคืบหน้าตามลำดับ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนแจ้งของกล่าวหา หากไม่มีความผิดพลาด ทุกคดีจะสามารถสรุปสำนวนแล้ว ส่งฟ้องศาลได้ภายในมิ.ย. นี้

นายประยงค์เผยว่า ขณะนี้ ปปท.กำลังดำเนินการตรวจสอบสอบการรับส่วยจากบ่อนผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามคดี และเผยว่ามี เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรืออื่นๆ รับส่วยจากบ่อนผิดกฎหมาย ซึ่งนอกจากข้อมูลจากตำรวจแล้วปปท.ยังจะติดตามข้อมูลการรับส่วยเองอีกทางหนึ่งด้วย การตรวจสอบดังกล่าวถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของปปท. โดยได้สั่งการเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามข้อมูลก่อนสรุปเสนอคณะกรรมการปปท.แล้ว

ปี๋ใหม่เมือง – น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมนายศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ ลูกชาย ร่วมสรงน้ำขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ และเล่นสาดน้ำร่วมกับชาวบ้าน ในงานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 เม.ย.

ปูควงลูกสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมนายศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชายและเพื่อนๆ ร่วมสรงน้ำขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ และพระสำคัญประจำวัดต่างๆ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ จ.เชียงใหม่ และน้องไปป์ ได้รดน้ำดำหัวเพื่อขอพรจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมีพี่น้องประชาชนในบริเวณดังกล่าวร่วมรดน้ำดำหัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยเช่นเดียวกัน

ศูนย์ทนายความแย้งก.ดิจิทัล

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่ข้อสังเกตต่อประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้งดเว้นติดตามบุคคลในสื่อออนไลน์ ระบุว่า ประกาศดังกล่าว เป็นเพียงแต่การสื่อสาร ของกระทรวงต่อสาธารณชน ไม่ได้มีฐานะเป็น “กฎ” หรือ “คำสั่ง” ซึ่งจะมีสภาพบังคับต่อประชาชน การระบุถึงเหตุการออกประกาศมีลักษณะที่ไม่ชัดเจน “คำสั่งของศาลอาญาให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสมตามพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550” เป็นข้อความซึ่งประชาชนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้ว่าศาลมีคำสั่งต่อ “ข้อเท็จจริง” ใดที่เกิดขึ้น อีกทั้งพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้ให้อำนาจศาลสั่งให้ประชาชนเลิกติดตามหรือติดต่อบุคคลใดได้

การติดตามหรือติดต่อบุคคลใดนั้นไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายใด ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกได้ ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลจะเป็นความผิดหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจาก “เนื้อหา” ที่เผยแพร่ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการเผยแพร่ข้อมูลจากตัวบุคคลใดจะเป็นความผิดเสมอ อีกทั้งการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญานั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น

ศูนย์ทนายความฯ เห็นว่าการงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเตอร์เน็ตนั้นเป็นข้อเสนอแนะที่สร้างความสับสนต่อประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาตามประกาศยังขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกไว้

กราบพระบรมศพไม่ขาดสาย

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชานุญาตให้องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยวันนี้มีผู้ร่วมเป็นเจ้าภาพ 44 คณะ แบ่งเป็น 4 รอบ ได้แก่ เวลา 10.00 น., เวลา 14.30 น., เวลา 17.00 น. และเวลา 19.00 น.

สำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. มีทั้งสิ้น 26,270 คน รวม 161 วันมี 6,069,556 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 1,579,465.75 บาท รวม 161 วันเป็นเงินทั้งสิ้น 495,441,406.76 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันที่ 162 ที่มีพระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนเข้ากราบสักการะพระบรมศพ โดยมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเดินทางมา กราบสักการะอย่างไม่ขาดสาย

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 13 เม.ย. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระพิธีธรรมจากวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร รวม 8 รูป

วันเดียวกัน น.ส.นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายในนิทรรศการจะนำภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำสำเนาพิมพ์ภาพขนาดเหมือนจริงมาจัดแสดง 30 ภาพ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. ในวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ทั้งนี้นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพด้านศิลปกรรม โดยเฉพาะสาขางานจิตรกรรม ในกิจกรรมงานใต้ร่มพระบารมี 235 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน