“อดีตรมต.” สอน “ประยุทธ์” หลังโดนสหรัฐฯแบน ชี้ทำส่งออกทรุด ลงทุนหาย แนะทางรอด!

วันที่ 27 ต.ค. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงอย่างมาก กรณีที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) จากไทย มีผลกระทบกับสินค้ากว่า 573 รายการ มูลค่ากว่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ มีผล 6 เดือนหลังประกาศเมื่อ 25 ต.ค. โดยอ้างเหตุเรื่องสิทธิแรงงาน ทั้งนี้เพราะจากประสบการณ์ที่เคยค้าขายกับสหรัฐ ทราบดีว่า สิทธิจีเอสพี ทำให้ราคาสินค้าของไทยสามารถแข่งขันราคากับสินค้าจากประเทศคู่แข่งได้

หากสินค้าไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี สินค้าจากไทยก็จะต้องเสียภาษีเต็มตามอัตราที่กำหนดซึ่งจะทำให้แข่งขันกับราคาสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ได้รับสิทธิจีเอสพีได้ยาก อีกทั้งยังต้องเจอกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากและยังจะแข็งค่าขึ้นอีกด้วย

มิเช่นนั้นผู้ผลิตและผู้ส่งออกก็จะต้องเฉือนเนื้อตัดจากกำไรเพื่อนำไปจ่ายภาษีศุลกากร และหากเป็นสินค้าที่มาร์จิ้นต่ำ เช่น สินค้าเกษตร อาหารทะเล ก็จะไม่สามารถเฉือนกำไรเพื่อจ่ายภาษีให้เพียงพอได้ โดยเรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยที่ทรุดต่ำอยู่แล้วให้ทรุดต่ำลงไปอีก

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นอกจากนี้ การถูกตัดสิทธิจีเอสพี จะทำให้การลงทุนในสินค้าหมวดหมู่ดังกล่าวลดลง หรือ จะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เพื่อไปลงทุนในประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ ซึ่งจะทำให้การลงทุนของไทยที่ลดต่ำอยู่แล้วลดต่ำลงไปอีก แถมอาจจะมีการโยกย้ายฐานการผลิตและการส่งออกซ้ำเติมด้วย

ผลของการที่ไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี ก็เหมือนกับผลของการที่ไทยไม่สามารถเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงที่มีรัฐบาลจากการปฏิวัติได้ ซึ่งการเจรจาการค้ากับอียูก็ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหา และ เร่งเจรจากับสหรัฐเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ซึ่งในอดีตประเทศไทยก็เคยโดนสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี ในบางรายการมาก่อน แต่สุดท้ายก็สามารถเจรจาแก้ไขได้ ถ้ารัฐบาลมีความสามารถและมีทักษะในการเจรจาเพียงพอ

รัฐบาลต้องใส่ใจเรื่องการเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าหลักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกทรุดและการลงทุนที่หายไป มากกว่าจะนำเรื่องที่น่าอับอายแต่กลับนำมาหาเสียง อย่างเช่น เรื่องอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจของไทยที่พึ่งฟื้นกลับมาได้อันดับที่ 21 หลังจาก 6 ปีของการปฏิวัติ

โดยก่อนการปฏิวัติ ไทยเคยอยู่อันดับที่ 18 และ ตั้งแต่มีการจัดอันดับมาประเทศไทยไม่เคยได้อันดับต่ำกว่าอันดับที่ 19 เลย จนมาเกิดการปฏิวัติทำให้อันดับความสะดวกทำธุรกิจของไทยทรุดลงไปต่ำสุดที่อันดับ 49 ในปี 2558 และ อันดับ 46 ในปี 2559 และพึ่งจะฟื้นขึ้นมาได้ แต่ก็ยังกลับไม่ถึงที่เก่าที่อันดับ 18 ก่อนการปฏิวัติ

เป็นความน่าละอายที่ 6 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำให้อันดับความสะดวกในการทำธุรกิจของไทยทรุดต่ำและยังไม่กลับมาที่เดิมมากกว่า อีกทั้งอันดับที่ดีขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการลงทุนที่มากขึ้น เพราะประเทศเวียดนามที่อยู่อันดับที่ 70 แต่การลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามมีมากกว่าไทยหลายเท่า

โดยประเทศเวียดนามได้เซ็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศคู่ค้าหลักตัดหน้าไทยที่ไทยยังไม่สามารถเซ็นได้และก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถเซ็นได้เมื่อไหร่ จึงทำให้การส่งออกของเวียดนามได้แซงหน้าการส่งออกของไทยครั้งแรกในปีนี้และน่าจะแซงแล้วแซงเลย เพราะการลงทุนในเวียดนามมีมากกว่าการลงทุนในไทยมาตลอดหลายปีนี้

อีกประเด็นหนึ่ง ถ้าหากใครได้ฟังสุนทรพจน์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่พูดที่ฮ่องกง นอกจากจะให้กำลังใจแก่ นางแคร์รี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงแล้ว นายสมคิดในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ของไทยยังได้แสดงจุดยืนเข้าข้างประเทศจีนอย่างเต็มที่

ซึ่งในภาวะสงครามการค้าและความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน การถือข้างใดข้างหนึ่งจนออกนอกหน้ามากเกินไป ก็อาจจะทำให้อีกประเทศหนึ่งไม่พอใจ ถึงกับตัดสิทธิจีเอสพีก็เป็นได้ จึงอยากให้ประเทศไทยวางตัวให้เหมาะสม ถ่วงดุลอำนาจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจให้ดี เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย

ในภาวะความผันผวนของโลก ประเทศไทยต้องการผู้นำที่มีความรู้ความสามารถและความรอบรู้เพียงพอที่จะเข้าใจพลวัตรของโลก หากผู้นำไม่สามารถก้าวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน ประเทศไทยจะเสียหายและเสียโอกาสอย่างมาก เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน