วิษณุ ชี้ คดีเสียบบัตรแทนกันในอดีต ไม่สามารถยกมาเป็นบรรทัดฐาน คดีปัจจุบันได้ ยัน พรบ.งบฯ ล่าช้า ไม่ทำให้วิบัติ อย่างที่ถูกวิจารณ์

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 ม.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงกรณีการเสียบบัตรลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 แทนกันของสมาชิกพรรคภูมิใจไทย จนอาจทำให้การประกาศใช้พ.ร.บ.งบฯ ล่าช้าออกไป ว่า

กรณีนี้ ขอให้แยกออกเป็นสองเรื่อง คือ หนึ่ง ต้องไปดูกันว่า การแสดงตนหรือการใช้สิทธิ์ของสส. ในการลงมติ ได้ทำถูกต้องหรือไม่ หรือมีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ สอง ผลจากการนี้จะกระทบต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าวอย่างไร

แม้จะเกี่ยวกันแต่ก็ต้องแยกกันเป็นคนละประเด็น เพราะความผิดต่างกัน โทษต่างกัน ผลกระทบต่างกัน ในกรณีของการกระทำนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่นั้นอยู่ที่ทางสภา เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งทราบในเบื้องต้นว่าประธานสภามอบหมายให้เลขาธิการสภาไปดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและได้ทราบผลมาในระดับหนึ่งแล้ว

นายวิษณุ กล่าวว่า ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้มีปรากฏออกมาในข่าวของสื่อ ที่ว่า มีการเสียบบัตรคาทิ้งไว้ โดยที่เจ้าของบัตรไม่ได้มอบหมายหรือวานให้ใครกดแทนซึ่งตรงนี้จริงหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาว่าเมื่อมีการเสียบบัตรทิ้งไว้เจ้าหน้าที่ของสภาได้เดินตรวจตราแล้วเก็บกลับออกมาตามวิธีปกติหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ระบุว่าเก็บแล้วเหตุใดจึงยังมีบัตรเสียบคาไว้อยู่

ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีบุคคลอื่นนำบัตรไปเสียบลงคะแนนให้ในทีหลัง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เก็บ บัตรดังกล่าวก็ยังเสียบคาไว้ที่เครื่อง และถ้าไม่มีใครนำไปกดรหัสสัญญาณจากตรงนั้นจะปรากฏออกมาได้อย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนจะเกิดผลกระทบอย่างไรนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงตรงนั้นเป็นสำคัญ

เสียบบัตรแทนกันในอดีต อย่ายกมาเป็นบรรทัดฐาน “คดีปัจจุบัน”

นายวิษณุ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเคยมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใน 2 เรื่อง เรื่องแรกเมื่อปี 2556 อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 โดยเรื่องแรกมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่15-16-17-18/2556 เรื่อง คราวที่มีการขอแก้ไขและธรรมนูญ ซึ่งในครั้งนั้นมีการกล่าวหาหลายเรื่อง

รวมถึงที่มีการลงมติและมีการเสียบบัตรแทนกัน และมีการวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในครั้งนั้นว่าขัดรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง ส่วนเรื่องของการเสียบบัตรแทนกันในครั้งนั้น นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย

นำบัตรลงคะแนนของ สส. คนอื่นประมาณ 4-5 คน ไปเดินเสียบลงคะแนน จึงถูกน.ส.รังสิมา รอดรัศมี สส. สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ถ่ายคลิปวิดีโอไว้ แล้วถูกนำไปเปิดแฉในชั้นศาล ทำให้สารเชื่อได้ว่ามีการเสียบบัตรแทนกันจริง ศาลจึงใช้หลัก 3 ข้อมาวินิจฉัย

นายวิษณุ กล่าวว่า คือ 1. สส. หนึ่งคนมีสิทธิ์ลงคะแนนหนึ่งเสียง แต่เมื่อนำบัตรของคนอื่นไปเสียบแทนก็แสดงว่าบุคคลนั้นใช้สิทธิ์เกินหนึ่งเสียง ซึ่งถือเป็นความผิด 2. สส. ได้มีการปฏิญาณตนแล้วว่า จะต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เมื่อปฏิบัติงานออกมาแบบนี้ ก็ถือว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต 3. สมาชิกสภา จะต้องมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ในอาณัติของใคร

ดังนั้นการที่ สส. นำบัตรไปให้ใครเสียบลงคะแนนแทน แล้วบุคคลนั้นนำไปเสียบแทนก็ถือเป็นการครอบงำบุคคลอื่น ศาลจึงใช้หลักการทั้งสามข้อนี้วินิจฉัยว่า เฉพาะ เรื่องการลงมติ จึงถือว่าไม่ชอบจึงถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และลำพังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้กฎหมายฉบับนั้นตกไป แต่ที่ร่างกฎหมายนั้นตกไป เพราะมีปัจจัยอื่น 4-5 สาเหตุมาประกอบกัน

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนกรณีปี 2557 ผู้กระทำเป็นคนเดียวกันคือนายนริศร ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการกระทำในเวลาที่ต่อเนื่องกัน โดยเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557 กรณีพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …
หรือ พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท ที่เรียกกัน

ซึ่งถูกร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยสองประเด็นหลัก คือ 1. การกล่าวหาว่ามีการเก็บบัตรแทนกัน ในการลงมติ โดยสายนริศร นำบัตรลงคะแนน ของ สส.4-5 ใบ ไปเดินเสียบลงคะแนนแล้วถูกถ่ายคลิปวิดีโอไว้ 2. การที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจกระทรวงการคลังไปกู้เงิน

เป็นการทำที่ไม่ผ่านวิธีการงบประมาณ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า เรื่องอย่างนี้ต้องใช้กฎหมายงบประมาณเท่านั้น ซึ่งในเรื่องของการเสียบบัตรแทนกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้หลักการสามข้อข้างต้น มาพิจารณา แล้ววินิจฉัยว่าการลงมติในวันนั้นมิชอบ

ทั้งนี้เราก็ต้องเข้าใจว่ากรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่าง กับในอดีต ซึ่งตนไม่ขอตอบและไม่ชี้นำว่า ผลจะเป็นประการใด หรือจะเกิดอะไรขึ้น โดยตอนนี้ต้องรอให้สภาผู้แทนราษฎรสรุปผลสอบข้อเท็จจริงออกมาให้ได้เสียก่อน ว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน หรือเสียบคาไว้ หรือเป็นความบกพร่องของระบบเครื่องลงคะแนน โดยที่ตนเองก็ยังไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร และเมื่อได้ความกระจ่างแจ้งออกมาอย่างไรแล้วก็จะทำได้ความเหมือน หรือแตกต่างจากในอดีต

ขณะเดียวกันเมื่อปี 2556 และ 2557 เป็นการเสียบบัตรแทนกันหลายใบ ซึ่งขณะนั้นศาลเชื่อว่าอาจจะมีมากกว่า 4-5 ใบ แต่ก็รณีล่าสุดนี้มีความชัดเจน ว่ามีเพียงหนึ่งใบ เว้นแต่ จากนี้ไปจะปรากฏความชัดเจนออกมาว่ามีใบที่ 2 หรือ 3 ตามมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตนอยากให้สื่อมวลชนได้เห็นความแตกต่าง

อย่างไรก็ตามหากใครยังรู้สึกมีความคลางแคลงใจก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยผู้มีสิทธิ์ยื่นร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ก็จะมีทั้ง นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ก่อนที่จะนำร่างฯงบประมาณขึ้นทูลเกล้าฯ

เพราะ เมื่อทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณ จบแล้วจะต้องทิ้งเวลาไว้ 3 วันเพื่อส่งมา ดำเนินการตามขั้นตอนก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสที่หากยังมีใครติดใจสงสัย ก็สามารถยื่นคำร้องต่อประธานสภาเพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้ เพราะฉะนั้นร่างพ.ร.บ.งบฯ จะโมฆะหรือไม่ อย่าเพิ่งไปใช้คำนั้น การลงมติแบบนั้นจะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องไปด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้นข้อที่ควรจะเข้าใจต่อไปคือ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับกฎหมายสองฉบับในอดีต หากการลงมติที่ไม่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้นในวาระสาม ก็จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งฉบับ ก็ต้องจบไปทั้งฉบับ แต่กรณีพ.ร.บ.งบฯ63 นี้มีเงินแง่ ที่ต่างจากกฎหมายฉบับอื่น

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน แม้จะครบกำหนดเวลาถ้ายังไม่เสร็จก็ต้องถือว่าเสร็จ หรือเห็นชอบตามที่รัฐบาลเสนอ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปตีความให้ รัฐบาลว่าตอนนี้เกินเวลา 105 วันมาแล้ว

ถ้ามตินั้นไม่ถูก จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นต้องเสียไปทั้งฉบับหรือเสียไปเฉพาะการลงมติวาระสอง และวาระสาม ที่มิชอบนั้น หากถือว่ามตินั้นมิชอบ ก็เท่ากับว่าสภา ไม่ได้พิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จ ภายใน 105 วัน “ผมไม่ตอบ ไม่ชี้นำ ไม่วินิจฉัย และไม่รู้ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นประเด็นที่จะต้องนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ผลการวินิจฉัยในอดีตไม่ได้เป็นบรรทัดฐาน100% ต่อคดีในปัจจุบันทุกกรณี เว้นแต่ ศาลจะมองว่าเป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะบางเรื่องกฎหมายก็ต่างกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายชวน หลีกภัยประธานสภา ระบุ ผลการตรวจสอบว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน ไม่ใช่การเสียบบัตรคาเครื่องไว้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องรอให้สภามีผลการตรวจสอบออกมา แล้วนำผลดังกล่าวเข้าไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะแม้แต่ผู้ร้องคือนายนิพิฏฐ์ ก็ให้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

นายวิษณุ กล่าวว่า หากมีการส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้จะทำให้การออกประกาศใช้พ.ร.บ.งบฯ63 ล่าช้าออกไป แต่ผลกระทบจากตรงนั้นคงไม่วิบัติอย่างที่ใครเขาคิดกัน

“ซึ่งถ้าสมมุติว่า ศาลรธน. วินิจฉัยว่าให้ตัดออกไปได้1-2เสียงก็จะโอเค แต่ถ้าศาลระบุว่าใช้ไม่ได้ อาจจะกลับมาบอกผลว่าเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผม ไม่ขอตอบว่าผลจะเป็นอย่างไร มิเช่นนั้นจะมาหาว่าผมชี้นำ แต่ขอย้ำว่าไม่ต้องเกรงใจว่าจะเกิดผลกระทบอะไร ที่มีลักษณะวิบัติ แต่ ยอมรับว่าช้าแน่นอน เพราะติดขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญ”

ผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนราชการจะสามารถนำงบฯประจำ มาใช้ได้ใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีปัญหา นธน. เขียนไว้แล้วว่าให้ใช้งบประมาณของปีเก่าไปพลางก่อน ซึ่งขณะนี้เราก็ใช้มา 4 เดือนแล้ว

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงถึงงบลงทุน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องงบลงทุนนั้นเราพยายามไม่แตะ แต่ตอนนี้งบประจำสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งทางสำนักงบประมาณได้เตรียมการไว้แล้ว ในเรื่องการใช้งบประจำ เช่น เงินเดือน ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบหรือทำความเดือดร้อนอะไร ส่วนโครงการก่อสร้างต่างๆขอให้รอไว้ก่อน


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน