อ.นิติฯ ธรรมศาสตร์ ชี้คดีกู้เงิน อนค. ไม่ถึงขั้นยุบพรรค รับน่าห่วง หากถูกยุบโดยไม่ยึดถือกม.

อ.นิติฯ ธรรมศาสตร์ เสนอมุมมองคดีเงินกู้อนค.- วันที่ 20 ก.พ. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มธ. แถลง “มุมมองต่อการเมืองไทย ก่อนคำตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 ก.พ.”

ประเด็นที่มาเกิดจาก “เงินกู้” ซึ่งกกต.เห็นว่า เงินกู้ เป็น “รายได้” และตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองไม่เปิดให้มีรายได้จากเงินกู้ โดยมีมาตราที่ห้ามพรรคการเมืองรับเงินบริจาค หรือประโยชน์อื่นใด หากเกิน 10 ล้านบาทเป็นเงินบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3)

มาตรา 62 เรื่องการกู้เงิน เป็นประเด็นสำคัญมากตรงที่ว่าถ้าเทียบกับพ.ร.ป.ฉบับที่แล้ว มี (8) ที่เขียนว่า “อื่นๆ” ซึ่งคำว่าอื่นๆ เปิดกว้าง สามารถเอาอะไรก็ได้มาอยู่ในรายได้พรรคการเมือง ดังนั้นเมื่ออื่นๆ ไม่มี กฎหมายปัจจุบัน 7 ข้อไม่มีเรื่องเงินกู้ เลยกลายเป็นรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นแรก ถามว่า เงินกู้ คือรายได้หรือหนี้สิน ตนเป็นรองอธิบดีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เงินกู้ของตนที่กู้ซื้อบ้านลงในช่องหนี้สิน ไม่ใช่รายได้ ข้อแรกศาลต้องวินิจฉัยเงินกู้เป็นรายได้หรือไม่ ไม่ต้องนักบัญชี ทุกคนก็ทราบดีว่าเงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ประการที่สอง พรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรของรัฐ เป็นการรวมกันของพลเมืองในการเสนอนโยบายให้พลเมืองคนอื่นเลือกในวันเลือกตั้ง พรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรของรัฐ เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั้งโลก ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐต้องมีกฎหมายให้อำนาจจึงทำได้

แต่เป็นองค์กรภาคพลเมือง แปลว่าถ้ากฎหมายไม่ห้ามไว้ก็มีสิทธิทำได้ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าหากไม่มีกฎหมายห้ามไว้และไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นก็แปลว่าทำได้

จึงย้ำอีกครั้ง หลักการสำคัญที่ว่าพรรคการเมืองไม่ได้เปิดให้มีรายได้จากเงินกู้ ดังนั้นจึงนับเป็นเงินบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น มี 2 ประเด็น คือ 1.เงินกู้ต้องเป็นหนี้สินไม่ใช่รายได้ 2.แม้ไม่เขียนไว้ แต่พรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรรัฐ ถ้ากฎหมายไม่ห้ามและไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น แม้ไม่เขียนว่าทำได้ก็แปลว่าทำได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิ ไม่ใช่ใช้อำนาจ

มาตรา 66 ระบุว่า บุคคลใดบริจาคเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทไม่ได้ เงินกู้นี้เกิน 10 ล้านบาทจึงผิดมาตรานี้

สารสำคัญมาตรานี้คือการบริจาคเงิน แต่เงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค ต่อให้ยอมรับว่าเป็นรายได้ แต่รายได้ก็ไม่ใช่เงินบริจาคอยู่ดี ขอย้ำอีกครั้งว่าสารสำคัญคือบริจาค ไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน ประโยชน์อื่นใดได้หมดทั้งสิ้น ซึ่งเงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค

อาจบอกว่าเป็นนิติกรรมอำพราง บริจาคเงินแล้วแต่ทำในรูปแบบเงินกู้หรือไม่ ซึ่งจะดูว่าเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ต้องดูว่ามีการใช้หนี้คืนหรือไม่ ถ้าจะบอกแค่ว่ามีการกู้เงินก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นนิติกรรมอำพรางหรือเปล่า ต้องตามดูว่ามีการคืนเงินหรือไม่ ถ้าไม่มีการคืนเงินแต่เป็นการยกให้ก็เป็นการบริจาคทันที

มาตรา 72 ซึ่งโยงไปสู่การยุบพรรค มาตรานี้ระบุ พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินอื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ได้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ถ้าไปเริ่มต้นว่า เงินกู้ เป็นรายได้ จึงนับเป็นประโยชน์อื่นใดที่ถือเป็นเงินบริจาค ดังนั้นเมื่อรับเกิน 10 ล้านบาทจึงผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงผิดมาตรา 72 จึงถือเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงโยงไปสู่มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) คือรับเงินบริจาคโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุยุบพรรคได้

เรื่องนี้แตกต่างไปจากคดีล้มล้างระบอบการปกครอง ตอนนั้นใช้มาตรา 49 ซึ่งไปถึงเพียงแค่ยุติการกระทำ แต่จะยุบพรรคต้องให้กกต.เป็นคนสั่งเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้กกต.ได้เป็นผู้ร้อง เหตุนำมาสู่การยุบพรรคจึงเป็นมาตรา 92

มาตรา 66 ต่อให้นับว่าเงินกู้เป็นรายได้ หรือต่อให้นับว่าเงินกู้ เป็นรายได้ เป็นเงินบริจาค แล้วรับเกิน 10 ล้านบาท แต่มาตรา 66 ก็ไปไม่ถึงยุบพรรค แต่เหตุยุบพรรคเป็นมาตรา 72 คือพรรคการเมืองต้องรู้ หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย

และถ้าเป็นเงินกู้ มีกฎหมายข้อไหนห้าม อีกทั้งพรรคการเมืองเป็นองค์กรของพลเมือง จึงต้องถามกลับว่ามีกฎหมายข้อไหนที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกู้เงิน

และ 72 เหมือน 66 ต้องเป็นเงินบริจาค จุดเชื่อมโยงหลายชั้น คือต้องตีว่าเงินกู้เป็นรายได้ และรายได้เป็นเงินบริจาค แล้วเกิน 10 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วจึงยุบพรรค

ย้ำว่าเหตุยุบพรรคที่เงินบริจาค มีคำถามตามมาว่า เงินกู้เป็นเงินบริจาคได้มีทางเดียวคือไม่รับใช้หนี้ หรือเป็นนิติกรรมอำพราง ดังนั้นก็ต้องตามดูมีการใช้หนี้หรือไม่ ไปสรุปเลยว่าเงินกู้เกิน 10 ล้านบาทเป็นเงินบริจาค แล้วยุบพรรคนั้นมองว่าไปไกลแล้ว

น่าเป็นห่วงมาก ถ้าการยุบพรรคจะยุบโดยไม่ยึดถือหลักกฎหมาย ไปถือว่าเงินกู้เป็นรายได้ และรายได้เป็นเงินบริจาค แล้วเกิน 10 ล้านบาท ลำพังเกิน 10 ล้านไม่ใช่เหตุยุบพรรค จะไปโยงกับมาตรา 72 ว่าเป็นเงินบริจาคว่าไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่ถ้าเมื่อผู้กู้เงินคือพรรครู้ว่าเป็นสัญญากู้เงิน แสดงว่าเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไร

การยุบพรรคทำได้ ในระบอบประชาธิปไตยการยุบพรรคไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้ถ้ามีพฤติกรรมถึงขั้นล้มล้างระบอบการปกครอง ก็เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตยอนุญาต แต่เรื่องยุบพรรคที่เป็นการไปกู้เงิน แล้วไปตีเป็นรายได้ เป็นการบริจาค เกิน 10 ล้าน ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยุบพรรคมันไปไกลเกิน และทุกพรรคที่จะมีโดนอีก

ประเด็นนี้ที่ต้องติดตามดูวันพรุ่งนี้ (21 ก.พ.) เรื่องแรก คือการวินิจฉัยว่าการกู้เงินเป็นรายได้หรือไม่ ประเด็นที่สองเป็นการบริจาคหรือไม่ ประเด็นที่สามเกิน 10 ล้านบาทเป็นเงินไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ และประเด็นที่สี่พรรคการเมืองรู้ว่าได้เงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องมาทั้ง 4 ขั้นนี้ ถึงจะนำไปสู่การยุบพรรคตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

การมีพรรคการเมืองคือเจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง ให้ความขัดแย้งทั้งหลายไปสู่การถกเถียงและหาข้อเท็จจริงในรัฐสภา ความเห็นที่แตกต่างกันที่ว่า เราจะชอบลุง เบื่อลุง ชอบอนาคตใหม่ ไม่ชอบอนาคตใหม่ เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ควรเปิดโอกาสให้พรรคใช้พื้นที่นำความหลากหลายและความเห็นต่างไปหาข้อยุติกันในสภาผู้แทนฯ

ถ้าหากเหตุไม่ถึงขั้นยุบแล้วมายุบเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหาที่ไม่ควรเกิดมากกว่า ถ้าไม่ถึงขั้นยุบพรรคควรให้เขาใช้วิถีทางนี้ แต่ถ้าจะถึงขั้นให้พรรคหนึ่งที่มีคะแนนเสียงไม่น้อย การจะยุบพรรคที่มีส.ส.ที่มาจากคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องมีเหตุหนักแน่นทางกฏหมาย

ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการเห็นว่าค่อนข้างมีปัญหาหากจะโยงให้เงินกู้เป็นรายได้ รายได้เป็นเงินบริจาค แล้วเกิน 10 ล้านบาทผิดกฎหมาย ดังนั้นบรรดาพรรค กรรมการบริหารพรรคที่รับเงินควรรู้ว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นจะยุบพรรค มันไปไกลเกินไป

เรื่องนี้ คณะกรรมการไต่สวนของกกต.ทั้งสองชุดยกคำร้อง แต่กกต.มีมติแตกต่าง แต่สุดท้ายแล้วก็จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร

แต่ถ้าว่ากันตามข้อกฎหมาย เป็นเรื่องที่ยังไปไม่ถึงการยุบพรรค ไม่ได้หมายถึงพรรคอนาคตใหม่ หมายถึงทุกพรรคที่กู้เงิน การให้บริจาคเงินใต้โต๊ะโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายต่างหากเป็นข้อที่ต้องควบคุม การกู้เงินที่ต้องควบคุมคือใช้หนี้หรือไม่ อย่ามาเป็นนิติกรรมอำพราง อย่ามาบริจาคแต่ทำเป็นเงินกู้ ถ้าคืนเงินจะเรียกว่าบริจาคได้อย่างไร

ความเห็นต่างจบที่การว่าตามกติกา และคิดว่าประเด็นค่อนข้างชัดเจน

ที่พูดเป็นหลักการสำหรับทุกพรรค ข้อสำคัญกว่าการกู้เงินคือพรรคการเมืองเป็นการรวมกันของพลเมือง อะไรที่ผิดกฎหมายแปลว่ากฎหมายห้ามไม่ให้ทำแล้วไปทำ ถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามกู้เงินจะเรียกว่าผิดกฎหมายได้อย่างไร

การตีความว่ากฎหมายไม่เขียนว่าทำได้ แปลว่าทำไม่ได้ ใช้กับองค์กรภาครัฐ

ถ้าหากเหตุถึงขั้นยุบพรรคเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็ถือว่าเป็นที่สุด เด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องยอมรับเพราะนั่นคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ผลที่จะตามมามี 2 ประการ คือ 1.พรรคที่ถูกยุบจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่จะไม่มีความเป็นพรรคการเมืองโดยต่อไป แต่ส.ส.ของพรรคและกรรมการบริหารพรรคสามารถไปหาพรรคใหม่สังกัดอยู่ได้

อยากให้มองในแง่รัฐศาสตร์อยากให้ดูบทเรียนของการยุบพรรคไทยรักไทย ที่ยุบพรรคไทยรักไทยได้พรรคพลังประชาชน ยุบพลังประชาชนก็ได้เพื่อไทย ถ้าจะมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ส.ส.ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคก็จะไปหาพรรคใหม่อยู่

เป้าหมายการเมืองในแบบที่พรรคอนาคตใหม่ทำอยู่นั้นจะไม่ได้จบไปพร้อมกับพรรคอนาคตใหม่ ไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าผิดในลักษณะล้มล้างการปกครองที่ถือว่าผิดกันจะจะก็ต้องว่ากันไปตามผิด แต่นี่ยังไม่ถึงขั้นนั้น จึงอยากให้สู้ตามวิถีทางสภา

ส่วนประการที่ 2. เรื่องการกู้เงินจากนี้ไปห้ามทำ แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้ห้าม แต่เป็นการห้ามโดยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าทำก็จะนำไปสู่การยุบพรรค และต่อจากนี้ไปอะไรที่เขียนว่าทำได้จะห้ามทำหมด ซึ่งเรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก

ย้ำว่ากฎหมายมหาชนการใช้อำนาจต้องมีกฎหมายให้อำนาจเพราะไปกระทบกับสิทธิของประชาชน และในด้านของประชาชนและพลเมืองเป็นการใช้สิทธิ์จะใช้ไม่ได้หรือห้ามใช้ก็ต่อเมื่อกฎหมายห้าม ถ้าเทียบความผิดทางอาญาการยุบพรรคคือโทษประหารชีวิตพรรคการเมือง

ตัวชี้ขาดอีกประการหนึ่งคือ ต้องไปดูว่าพรรคการเมืองเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าไม่ได้เป็น เพราะพรรคการเมืองคือการรวมกันของพลเมืองคนที่จะเป็นองค์กรของรัฐได้ก็ต่อเมื่อชนะการเลือกตั้งแล้วรับตำแหน่งเป็นส.ส. แล้วเป็นพนักงานของรัฐ

ย้ำว่าการพูดครั้งนี้ไม่ได้เป็นการพูดเพื่อช่วยอนาคตใหม่ แม้หัวหน้าพรรคจะเป็นศิษย์เก่า มธ. แต่เป็นการพูดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสื่อมวลชนและเพื่อประโยชน์ของระบบประกันเมืองของประเทศไทย และให้รู้ว่าบรรทัดฐานตามเมืองไทยจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (21 ก.พ.)

ย้ำว่าเมื่อศาลวินิจฉัยว่าอย่างไรก็ต้องจบ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพียงแต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเป็นบรรทัดและสิ่งที่สำคัญคือไม่ได้เกิดจากอนาคตใหม่ แต่จะเกิดกับนักการเมือง 60 คน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ ใหญ่กว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

ดังนั้น การจะยุบหรือไม่ยุบไม่เกี่ยวว่าพรรคอนาคตใหม่มีส.ส.กี่คน แต่มันเกี่ยวตรงที่มีเหตุของข้อกฎหมายให้ยุบหรือไม่

ในแง่ของบทเรียนเรื่องนี้มองว่าความขัดแย้งทางความคิดต้องแก้ไขด้วยการคุยกันในสภา ให้คู่ขัดแย้งยอมรับได้และเป็นทางเดียวที่จะยุติความขัดแย้ง คือว่ากันไปตามกติกาด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่าทำให้มันกลายเป็นปัญหา

เรามีเวทีหาทางออกเรื่องนี้อยู่แล้วคือสภา และมีเครื่องมือ คือพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง และมีกฎกติกาคือรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

‘ปิยบุตร’แถลงปิดคดี-เงินกู้อนค.

‘ธนาธร’ ลั่น เตรียมการรับผลตัดสินคดี 21 ม.ค. ไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะออกทางไหน ขอให้ ปชช. ยังมีหวัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน