“บิ๊กตู่” แจงกลางที่ประชุมสภา ยันใช้งบ 8.8 หมื่นล้าน จาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ คุ้มค่า โปร่งใส เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประเทศชาติ และประชาชน

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เวลา 09.45 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ…. วาระแรก ตามที่ครม.เสนอ วงเงิน 88,452,579,900 บาท เพื่อโอนงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณต่างๆ ได้รับ ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไปตั้งเป็นงบกลาง

รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นำไปใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางมาร่วมชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นการขอโอนงบประมาณดังกล่าวด้วยตัวเอง

ก่อนเริ่มประชุม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านตกลงจะใช้เวลาพิจารณารับหลักการ 1 วัน ใช้เวลาพิจารณา 10 ชั่วโมง แบ่งเวลาให้ฝ่ายรัฐบาล 4 ชั่วโมง และฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่างพ.ร.บ.โอนงบฯ คือให้โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของหน่วยรับงบประมาณเป็นบางรายการ ไปตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 88,452,597,900 ล้านบาท โดยงบฯ ของหน่วยรับงบประมาณ 39,893.1111 ล้านบาท

งบฯรายจ่ายบูรณาการ 13,56.4868 ล้านบาท และงบฯรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 35,303.0000 ล้านบาท ซึ่งการพิจารณาวันนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด เพราะถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงของประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม

ที่ผ่านมารัฐบาลใช้จ่ายในงบประมาณกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามแผนเร่งด่วนต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัย และภัยแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น

และโรคติดเชื้อโควิด ส่งผลให้งบฯกลางเงินสำรองจ่ายที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องโอนงบฯของหน่วยรับงบประมาณ ที่ได้รับการจัดสรรไปตั้งไว้ในรายการเงินสำรองจ่าย ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณผ่านกลไกลต่างๆ เพื่อสนองตอบการแก้ไขปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์

นายกฯ กล่าวต่อว่า กฎหมายโอนงบประมาณรายจ่ายฉบับนี้มีความสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งทำให้การบริหารร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63 มีประสิทธิภาพคล่องตัว ทันต่อการแก้ไขสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประชาชน และร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังสอดคล้องกับพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 35 (1)

ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับหน่วยรับงบประะมาณอื่นไม่ได้ เว้นแต่มีพ.ร.บ.ให้โอนหรือนำไปใช้ได้ อย่างไรก็ตามงบประมาณก้อนนี้ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ หลักการ และเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยงบประมาณและรายงานที่นำมาจัดการพ.ร.บ.โอนงบฯฉบับนี้ ประกอบด้วย 1.รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่าย และไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เม.ย.2563 อาทิ ค่าใช้จ่ายในนการสัมมนา การฝึกอบอรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ และการจัดงานกิจกรรมต่างๆ

2.รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย อาทิ รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เม.ย.2563 และ/หรือไม่สามารถลงนามได้ทันในวันที่ 31 พ.ค.2563 และ 3.รายการที่ชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2563

“รัฐบาลคำนึงถึงการบริหารงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีงบประมาณ 2563 ตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์และสวัสดิการเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต้องคำนึงถึงการสร้างงาน จึงหวังว่าสมาชิกจะให้การสนับสนุนและรับหลักการ เพื่อนำงบไปใช้แก้ปัญหาจำเป็นเร่งด่วนอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” นายกฯ กล่าว


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน