“ญาติเหยื่ออุ้มหาย” ยื่นหนังสือร้อง “ชวน” เร่งพิจารณาร่าง กม.คนหาย

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 27 ส.ค. ที่รัฐสภา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตัวแทนประชาชน และญาติบุคคลที่ถูกซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย

โดยระบุว่า เนื่องด้วยเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและการบังคับสูญหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนภาคประชาชนทราบว่า ทางกณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้นำ(ร่าง)พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ฉบับประชาชน มาปรับปรุงรายมาตราสำเร็จเป็นร่างกฎหมายสมบูรณ์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2562 และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่างๆได้ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาไปแล้ว

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ยิ่งไปกว่านั้นพรรคการเมืองบางพรรค โดยสมาชิกสภาผู้แทนรายฎรในสังกัด เช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาชาติ ได้ยื่นร่างกฎหมายชื่อเดียวกัน เข้าสู่การพิจรณาของรัฐสภาด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นฉันทามติของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งที่ต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ยืนยันสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาข ที่ทุกคนปลอดพ้นจากการทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถือว่าการกระทำทรมานหรืออุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม โดยจะกระทำต่อบุคคลใดๆมิได้ ไม่ว่าโดยข้ออ้าง เหตุผลหรือภายใต้สถานการณ์ใดๆ

นพ.สุกิจ กล่าวว่า ตอนนี้มีพรบ.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 ฉบับ ซึ่งกำลังดำเนินการในขั้นตอนของมาตรา 177 แล้ว ยืนยันว่ากฎหมายทุกฉบับต้องฟังเสียงประชาชน อย่างไรก็ตามทุกอย่างต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนระบบราชการ กฎหมายรัฐธรรมนูญและระเบียบข้อบังคับการประชุม

ทั้งนี้ แม้จะมีการขยายสมัยประชุมออกไปถึงวันที่ 25 ก.ย. แล้วก็ตาม แต่ที่ประชุมมีระเบียบวาระที่ค่อนข้างแน่นแล้ว คาดว่าคงไม่ทันในสมัยประชุมนี้ อย่างไรก็ตามจะรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ร่างพรบ.ฉบับดังกล่าวสำคัญมาก เพราะมีจุดประสงค์ที่ต้องการการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดอาญา โดยเฉพาะปัจจุบันมีการจับกุมบุคคลที่แสดงออกทางความคิดเห็น ซึ่งได้จัดส่งตั้งแต่เดือนมิ.ย.แล้วจนถึงขณะนี้นับเป็นเวลานาน หากสามารถผ่านการพิจารณา อย่างน้อยวาระที่ 1 ในสมัยประชุมนี้ เพื่อให้เกิดการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาในรายละเอียด

เราเห็นว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่างๆร่วมลงชื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นฉันทามติ ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ยืนยันสิทธิเสรีภาพ ผลักดันให้เป็นความผิดทางอาญา นำคนทำผิดมาลงโทษ และกระบวนการสืบสวนที่สามารถหาความจริงทุกกรณี นอกจากนี้เราต้องการให้มีการปฏิรูป เพราะทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกลับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

ด้าน น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกอุ้มหายตัวไปที่ประเทศกัมพูชากล่าวว่า อยากให้เราช่วยกันรณรงค์ ผลักดันพรบ.ดังกล่าว เพราะปัจจุบันเราทุกคนตอนนี้มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็น เราอยากผลักดันให้พรบ.นี้ให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษ

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ไม่บ่อยที่เราจะเห็นกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง นี่จึงเป็นวาระสำคัญว่าแม้เราจะต่างพรรคแต่เราก็พร้อมที่จะผลักดันกฎหมายด้วยกัน แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญสมัยปัจจุบันไม่มีเรื่องของสมัยประชุมนิติบัญญัติ การผลักดันกฎหมายต่างๆจึงอาจต้องใช้เวลา และเป็นสิ่งที่สภาต้องหารือกันว่า บรรดากฎหมายที่เราร่วมกันเข้าชื่อนั้นจะทำอย่างไรให้ถูกพิจารณาได้เร็วขึ้น เพราะทุกวันนี้กฎหมายหลายฉบับต้องต่อคิว

ทั้งนี้ ร่างพรบ.อุ้มหายฯนี้ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ดังนั้นโอกาสที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาน่าจะเร็วกว่า แต่ก็ต้องไปอยู่ท้ายสุดของญัตติต่างๆ ดังนั้นสภาต้องหารือถึงวิธีการพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่โดยไว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน