สื่อจีน นำเสนอบทความการชุมนุมของกลุ่มประชาธิปไตยไทย เชื่ออาจมีเบื้องหลังความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก คนหนุ่มสาวถูกใช้เป็นเครื่องมือ ล้มล้างระบบการเมืองไทย

Global Times

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2563 เว็บไซต์ โกลเบิลไทมส์ (โกลเบิลไทมส์ เป็นสื่อแทบลอยด์ในเครือพีเพิลส์ เดลี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมักแสดงความคิดเห็นด้วยมุมมองชาตินิยมในเรื่องเกี่ยวโยงกับต่างประเทศ) นำเสนอบทความวิเคราะห์ว่า การชุมนุมของกลุ่มประชาธิปไตยไทย อาจมีเบื้องหลังการหยิบยื่นความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก

โดยบทความเสนอว่า การเมืองของไทยกำลังร้อนแรงขึ้นด้วยการเพิ่มขึ้นของการประท้วงบนท้องถนน ซึ่งขับเคลื่อนโดยกองกำลังต่อต้านรัฐบาล โดยรัฐบาลไทยได้ประกาศพระราชกำหนดเพื่อตอบสนองต่อการชุมนุมดังกล่าว ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 อย่างไรก็ตามผู้ประท้วงได้วางแผนการชุมนุมเพิ่มเติมอีกอยู่ดี จนสถานการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากทั่วโลก

New Straits Times

ผู้ประท้วงอ้างว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกเขามีเหตุผลหลายประการ เช่น ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศ อัตราการว่างงานที่สูงอย่างรุนแรง และ ปัญหารัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เชื่อกันว่ามันช่วยสืบทอดอำนาจการปกครองของรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตามปัจจุบัน การชุมนุมในกรุงเทพฯมีลักษณะที่คล้ายกับความวุ่นวายในฮ่องกงในปี พ.ศ.2562 ด้วย 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่มักเป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งแตกต่างจากการประท้วงบนท้องถนนของไทยก่อนหน้านี้ระหว่าง “คนเสื้อเหลือง”ผู้ต่อต้านทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย กับ “คนเสื้อแดง” ผู้สนับสนุนทักษิณ

Aljazeera

ประการที่สอง การชุมนุมมีการจัดการที่ดี ทำให้มั่นใจว่าพวกเขาได้รับทุนจากบุคคลหรือองค์กรเบื้องหลังอย่างแน่นอน การชุมนุมที่ผ่านมา ผู้ประท้วงได้รับอุปกรณ์ป้องกันอย่างดี เช่น หมวกกันน็อค แว่นตานิรภัย และร่ม เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องยากสำหรับนักเรียนนักศึกษาทั่วไปที่จะระดมเงินทุนเป็นจำนวนมากสำหรับการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว

ประการที่สาม รูปแบบของการชุมนุมในกรุงเทพฯคล้ายกับในฮ่องกง ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลพยายามยึดครองสถานที่สาธารณะ เช่น สถานที่สำคัญในท้องถิ่น ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง และสถานีรถไฟใต้ดิน ทั้งหมดนี้ทำขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจจากประชาคมโลก พวกเขาใช้ร่มเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง ผู้ประท้วงเล่นแมวไล่จับหนู กับตำรวจโดยสุ่มเลือกสถานที่และเวลาสำหรับการประท้วง

New Straits Times

ประการที่สี่ มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับการประท้วงในฮ่องกง เนื่องจากมีชาวตะวันตกที่ไม่ปรากฏชื่อในการชุมนุม ได้สั่งให้นักศึกษาจัดตั้งเวทีและเครื่องกีดขวาง นอกจากนี้ยังมีทีมช่างถ่ายภาพมืออาชีพที่ซ่อนตัวอยู่ในฝูงชนเพื่อจับภาพที่จะดูสะเทือนใจ เช่น ภาพผู้ประท้วงที่คุกเข่าต่อหน้าเจ้าหน้าที่ และ ตำรวจติดอาวุธกำลังแกว่งกระบองต่อหน้าผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่เหมือนการระบาดบนโซเชียลมีเดีย พวกเขาปลุกปั่นคนธรรมดาให้เกลียดรัฐบาลที่ดู “โหดร้าย” เพื่อทำให้คนธรรมดาเหล่านั้นกลายเป็นผู้ประท้วง

NBC News

ที่สำคัญ ผู้ก่อการจลาจลในฮ่องกงบางคน รวมถึง โจชัว หว่อง ผู้นำการประท้วงในฮ่องกง ได้สนับสนุนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของไทยอย่างเปิดเผยอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้นึกถึง ภาพคู่ของโจชัว หว่อง กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

รัฐบาลไทยและสื่อกระแสหลักเชื่อว่ากองกำลังต่อต้านรัฐบาลในประเทศได้สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯและประเทศตะวันตกอื่น ๆ เพื่อใช้คนหนุ่มสาวเป็นเครื่องมือ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อล้มล้างระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทย

กองกำลังต่อต้านรัฐบาลเหล่านี้ มีเป้าหมายที่จะนำ ผู้นำทางการเมืองที่ส่งเสริมการเมืองแบบตะวันตกเข้ามาปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก โดยพื้นฐานแล้วมันคือ “การปฏิวัติสี”ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติทั่วไปของสหรัฐฯ (ผู้เข้าร่วมในการปฏิวัติสีส่วนใหญ่ใช้การต่อต้านแบบสันติวิธี หรือ การอารยขัดขืน เช่น การเดินขบวนการ นัดหยุดงาน เพื่อประท้วงรัฐบาลที่เห็นว่าทุจริต รัฐเผด็จการ และเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย)

Color Revolution / Army University Press

สหรัฐฯจัดการปฏิวัติสี ในอดีตสหภาพโซเวียต ตะวันออกกลาง และประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อเจตนาทางการเมือง ทำให้หลายประเทศตกอยู่ในความยุ่งเหยิง เป็นการคุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคและโลก

แต่ปัจจุบันต้องติดตามต่อไปว่า คนรุ่นใหม่ไทยซึ่งปัจจุบันถูกสหรัฐฯและตัวแทนจากตะวันตกปั่นหัว จะเข้าใจว่าการปฏิวัติสีไม่ได้สวยงามแบบที่คิดหรือสงบสุขอย่างที่เห็นเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนข้างต้น เป็นเพียงความคิดเห็นจากสำนักข่าวที่มีแนวคิดชาตินิยมและได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงอาจทำให้มีความโน้มเอียงในการให้ความเห็น

Financial Times

ทั้งนี้การชุมนุมในปัจจุบัน แม้ดูผิวเผินอาจมองว่าคล้ายกับฮ่องกง แต่สิ่งที่แตกต่างคือ นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมในไทยจะมีความหลากหลายแล้ว ยังเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ที่ยังไม่เคยพบเจอในประเทศใด นอกจากนี้การระดมทุนจำนวนมากมาจากประชาชนด้วยกันเอง และมีการเปิดเผยแหล่งเงินทุนอย่างโปร่งใส และ ร่มไม่ใช่สัญลักษณ์ของการชุมนุมของฮ่องกง หรือ ไทย แต่เป็นอุปกรณ์กันแดดกันฝนทั่วไป ที่ถูกใช้จากผู้ชุมนุมทั่วโลก

หากพิจารณารายละเอียดในการชุมนุม จะพบว่า การประท้วงในไทยแตกต่างจากฮ่องกงมาก ทั้งในแง่ข้อเรียกร้องและวิธีการ แต่มีจุดร่วมคือต้องการระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน