ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผย บันทึกจับกุม อาสาพยาบาล ไม่พบอาวุธในเสื้อกั๊ก เหยื่อแฉ นั่งอยู่ดีๆ โดนฟาดที่หัว ก่อนถูกตร.รุมนับ 10 นาย

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

กรณีปรากฎภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายหมอและพยาบาลในพื้นที่ชุมนุม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณหน้าศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. แถลงตอบโต้ว่า เบื้องต้นพบว่าไม่ได้มีอาชีพพยาบาล แต่อาจเป็นเพียงกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาสาอยู่ในหน่วยพยาบาลให้กับผู้ชุมนุมเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยืนยันไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ยอมรับตำรวจจำเป็นต้องใช้ปืนยิงขึ้นฟ้า เพื่อรักษาความสงบ เนื่องจากมีผู้ชุมนุมบางกลุ่มไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจคัดกรองและสร้างความวุ่นวาย

ต่อเรื่องดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยบันทึกจับกุม “อาสาพยาบาล” ไม่มีระบุเรื่องการตรวจยึดอาวุธซุกซ่อนอยู่ในเสื้อกั๊ก ความว่า 14 กุมภาพันธ์ 2564 จากกรณีพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีการควบคุมตัวทีมพยาบาลอาสา จากการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา

โดยระบุว่าบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีอาชีพพยาบาล และยังอยู่ในกลุ่มที่ก่อความวุ่นวาย โดยที่บางสำนักข่าวยังเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบอาวุธซุกซ่อนอยู่ภายในเสื้อกั๊กพยาบาลด้วย โดยที่ไม่แน่ชัดว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากที่ใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในการจับกุมบุคคล 8 ราย วานนี้ รวมทั้ง “ปุรพล” ทีมพยาบาลอาสา วัย 19 ปี ไม่ได้มีการตรวจยึด “อาวุธ” หรือพบ “สารเสพติด” ใดๆ จากผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งไม่ได้พบ “อาวุธ” ในเสื้อกั๊กพยาบาลตามรายงานข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด มีแต่เพียงกรรไกรทางการแพทย์ที่พบจากตัวปุรพล โดยตามบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้ระบุเรื่องนี้เอาไว้ เพราะหากมีการตรวจยึดสิ่งของใดๆ เจ้าหน้าที่ต้องมีการบันทึกการตรวจยึดเอาไว้ตามกฎหมาย

อีกทั้ง “ปุรพล” แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นแพทย์หรือพยาบาล แต่กำลังศึกษาต่อด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563 เขาจึงได้สมัครเข้ามาเป็นอาสาสมัครทางการแพทย์ ของทีมแพทย์อาสา DNA (Doctor and Nurse Associate) ซึ่งรับสมัครและคัดกรองบุคคลเข้ามาช่วยงานอาสาดูแลประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บในพื้นที่ชุมนุม

ปุรพลเริ่มปฏิบัติงานอาสาดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีการฉีดน้ำความดันสูงระหว่างการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน เขาปฏิบัติงานในลักษณะอาสาสมัคร ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ จากการทำกิจกรรมนี้

ปุรพล ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าในการชุมนุมวานนี้ (13 ก)พ ตนไปถึงที่ชุมนุมตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. และประจำอยู่ที่เต็นท์พยาบาล หน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยสวมใส่เสื้อกั๊กแสดงความเป็นหน่วยแพทย์-พยาบาลอาสาเอาไว้ตลอด

ขณะเคลื่อนขบวน เขาได้ติดตามการชุมนุมไปด้านท้ายขบวน ขณะผู้ชุมนุมเดินไปหน้าศาลฎีกา หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ทีมพยาบาลอาสา กําลังเก็บของขึ้นรถ ได้เห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งรถเสียและโดนแก๊สน้ำตา หัวหน้าทีมอาสา DNA จึงเข้าไปช่วยเหลือ ปุรพลได้คร่อมรถจักรยานยนต์รออยู่ ขณะนั้นเองได้มีชุดเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประมาณ 10 กว่านาย เข้ามาฟาดที่หัวจนเขาล้มลง จากนั้นก็รุมใช้เท้าและกระบองฟาด จนเขาสลบไป

ในช่วงคืนที่ผ่านมา ระหว่างสอบปากคำภายใน บก.ตชด.ภาค 1 ปุรพลยังมีอาการมึนหัว ปวดต้นคอ ไหล่ซ้าย และท้ายทอย มีบาดแผลที่หลังเป็นรอยกระบอง ต้นแขนซ้าย ข้อเท้าข้างซ้ายมีรอยฟกช้ำ และมือทั้งสองข้างบวมช้ำจากกระบอง

ก่อนการแจ้งข้อกล่าวหาช่วงคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพยายามเจรจากับปุรพล ไม่ให้เอาเรื่องกับตำรวจต่อเหตุการณ์ที่ถูกทำร้ายระหว่างการจับกุม แต่ปุรพลไม่ยินยอม ทำให้ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาต่อปุรพล 6 ข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน