แพทยสภา แถลงกรณีเหตุชุมนุม ไม่เห็นด้วยกับการกระทำละเมิด กม. ใช้กำลังเกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ขอให้เกียรติไม่ทำอันตรายบุคลากร อาสาสมัครทางการแพทย์

วันนี้ (15 ก.พ.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 และ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา แถลงข่าวถึงความรุนแรงกรณีสลายม็อบบุคลากรทางการแพทย์ โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การออกมาชุมนุมของคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ถือว่ายังอยู่ในระบบของประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย ไม่ให้มีความเสี่ยงเกิดอันตรายกับสุขภาพของประชาชน หรือใครก็ตาม

ดังนั้น ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา และประธานอนุกรรมการบริหารแพทยสภา ได้ออกแถลงการณ์จุดยืนดังนี้ เนื่องจากขณะนี้เกิดเหตุการณ์การชุมนุมโดยกลุ่มคนหลายครั้งในประเทศไทย จนเป็นเหตุให้มีประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และอาสาสมัครทางการแพทย์ ได้รับบาดเจ็บ ดังปรากฎอย่างต่อเนื่อง กรรมการบริหารแพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพทางด้านสุขภาพขอแถลงจุดยืนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวคือ

1. ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมายและการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในบริเวณหรือสัญจรผ่านพื้นที่ใกล้เคียง

2. ขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายใดๆ ต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล

3. ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย ตามหลักสากล ที่สำคัญคือ ไม่เลือกปฏิบัติยึดถือความเป็นกลางมีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

4. ขอแสดงความชื่นชมต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ทุกท่าน ที่เสียสละและมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์การชุมนุมต่างๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ

“ส่วนตัวผมมองว่าเรื่องนี้เราต้องคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะเขาจะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร จะต้องเป็นกลางทางวิชาชีพ ไม่เลือกปฏิบัติ ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม และเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เกิดแค่ที่ กทม. แต่มีการเกิดในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ดังนั้นต้องมีการคัดกรอง ลงทะเบียนให้ชัดเจน และมีการรับรองตราสัญลักษณ์การเป็นแพทย์อาสา อาสาสมัครสาธารณสุข คือใช้กากบาทสีเขียว จะไม่ใช้สีแดงเพราะเป็นสีของกาชาด ใช้ไม่ได้ ซึ่งหากไม่ทำตามระบบ ระบบมันจะเสีย เพราะเราทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ไปปฏิบัติหน้าที่นั้นต้องรู้ว่าอะไรคืออะไร ต้องรู้ว่าจุดไหนปลอดภัย” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

พล.อ.ต.อิทธพร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อวางระบบให้ชัดเจน มีการเรียนรู้ขั้นตอนการปฐมพยาบาล การกู้ชีพ และการเชื่อมโยงระบบส่งต่อ แม้จะเป็นจิตอาสาก็ต้องมีความรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย เบื้องต้นได้มี หารือกับกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการขึ้นทะเบียนอาสาสมัครทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ ซึ่งทั้งประเทศก็ต้องอยู่ภายใต้ร่ม สธ.อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของ สธ.ที่จะต้องไปพูดคุยและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเรื่องของการลงทะเบียนข้อมูลต่างๆ

เมื่อถามว่าเมื่อตั้งตัวเป็นอาสาสมัครแล้ว ต้องปฏิบัติตามหลักสากล โดยแยกตัวออกออกจากจุดที่มีความขัดแย้งหรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า แพทยสภาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ใครจะมีจุดยืนทางการเมืองอะไรก็ตามไม่ว่ากัน แต่เมื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครทางการแพทย์ก็จะต้องความเป็นกลาง ดูแลทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนถ้าไม่มีการลงทะเบียนแล้วจัดทำตราสัญลักษณ์กากบาทสีเขียวขึ้นมาใช้เองนั้น เราก็ไม่อาจจะพูดได้ว่าเป็นการปลอมแปลงหรือไม่ แต่หลักการของการมีแพทยอาสา มีอาสาสมัครสาธารณสุขเราก็อยากให้เป็นคนที่สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนได้จริง การที่มีการรับรองก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจด้วย

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ระบบการดูแลการแพทย์ฉุกเฉินนั้นจะมีการวางระบบเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ นั้นจะมีทางศูนย์เอราวัณ ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ดูแลร่วมกับอาสาสมัครกู้ภัย ซึ่งจะมีการแบ่งหน้าที่การทำงานในพื้นที่ และการส่งต่ออย่างเป็นระบบ อยู่ในเซฟโซนป้องกันการปะทะ มีสัญลักษณ์ชัดเจน คือกากบาทสีเขียว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน