กะเหรี่ยงบางกลอย จับเข่าคุย ทส. ยื่นข้อเสนอ ขอกลับ ‘ใจแผ่นดิน-ทำไร่หมุนเวียน’ เซ็นบันทึกความเข้าใจ ผู้ชุมนุมพอใจพร้อมกลับบ้าน
เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 ก.พ. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นายประยงค์ ดอกลําไย ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ร่วมหารือกับ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดย นายประยงค์ ได้เสนอข้อเรียกร้อง และประเด็นปัญหาต่างๆต่อนายพงศ์บุณย์ และให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เล่าถึงทั้งประเด็นปัญหาและข้อเรียกร้อง ซึ่ง นายพงศ์บุณย์ ได้รับข้อเสนอของทางกลุ่มทั้งหมดไปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมชี้แจงว่าในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 64 ตัวแทนหน่วยงานจัดการพร้อมทั้งตัวแทนชาวบ้านจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
- กะเหรี่ยงบางกลอย จี้ ธรรมนัส-วราวุธ เซ็นบันทึกข้อตกลง หลังจนท.บุกหมู่บ้านยิงปืน
- หวั่นรุนแรงซ้ำรอย กะเหรี่ยงบางกลอย แฉ จนท.อุทยาน บุกกดดัน ทั้งยิงปืนขู่-ปิดหมู่บ้าน
- สะท้อนรัฐจัดการเหลว ชาวบางกลอย หนีกลับใจแผ่นดิน สุดทนอยู่มา 25 ปี ไร้ที่ทำกิน
เวลา 12.15 น. ยุติการหารือ และมีการทำบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ระหว่างตัวแทนรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ภาคี#SAVEบางกลอย และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ได้เห็นชอบร่วมกันให้จัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน เพื่อเป็นบันทึกข้อตกลงในการแก้ไขปัญหา
โดยมีข้อตกลงในแนวทางแก้ไขปัญหากรณีความเดือดร้อนของพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน ที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) มารับหนังสือ และตกลงดำเนินการตามข้อเสนอของ ภาคี#SAVEบางกลอย ตามรายละเอียดหนังสือที่แจ้งไป
โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อ ได้แก่
1. ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด
2. หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง อาหาร รวมถึงการตั้งจุดสกัดเดิม และที่จุดเพิ่มเติมขึ้นมาทั้งหมด
3. ยุติคดีของสมาชิก ภาคี#SAVE บางกลอย ทั้งหมด 10 คน กรณีการยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564
อีกทั้งมีข้อเสนอที่แนบมากับหนังสือที่ยื่นมากับ นายกรัฐมนตรี ในประเด็นการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 6 ข้อ คือ
1. ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทำกิน และดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยการรับรองสิทธิ์ในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม
2. ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการ
ข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน
3. ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย
4. ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย
แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการพื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน
5. ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดำเนินการจัดสรรที่ดินทั้งที่ดินอยู่อาศัย และทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง
6. รัฐจะต้องยุติการดำเนินการสนธิกำลังกันของเจ้าหน้าที่รัฐได้ตั้งจุดสกัด เดินลาดตระเวนและตรวจค้นสร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสมาชิกชุมชนบางกลอยทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพูดคุยกันนานกว่าชั่วโมง ทางกลุ่มผู้ชุมนุมพึงพอใจผลการเจรจา และหากการดำเนินการลงนามในบันทึกความเข้าใจเสร็จก็จะเดินทางกลับทันที