“จิราพร” อัด”บิ๊กตู่” ลุอำนาจ ปม เหมืองทอง อาจทำไทยโดนฟ้องค่าโง่ ทำลายอนาคตลูกหลาน นายกฯ ลุกขึ้นโต้ ยกเหตุผลโยงหนี้จำนำข้าว

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน
เวลา 09.10 น. วันที่ 17 ก.พ.64 น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ความเสียหายของแผ่นดินนเกิดจากน้ำมือและการตัดสินใจที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยจุดเริ่มต้นมาจากการรัฐประหารปี 2557 ทำให้ประเทศได้ผู้นำที่ลุแก่อำนาจ เสพติดการใช้อำนาจที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับ สร้างความเสียหายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

การกระทำที่ลุแก่อำนาจครั้งนั้นมีผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นเดิมพัน ซึ่งตนกำลังพูดถึงคดีเหมืองทองอัครา พล.อ.ประยุทธ์ หรือหัวหน้าคสช. ขณะนั้นใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ส่งผลให้บริษัทบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต้องยุติกิจการ รวมทั้งเป็นเหตุให้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ตัดสินใจฟ้องราชอาณาจักรไทยและมีการประเมินว่าคดีนี้ไทยอาจจะแพ้ได้และต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22,500 ล้านบาท

ดังนั้น จำเป็นต้องอภิปรายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำผลประโยชน์ของชาติ หรือทรัพยากรของชาติไปแลกกับต่างชาติ เพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิด

น.ส. จิราพร กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย. 62 ในการประชุมร่วมรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงแทนว่ารัฐบาลไทยมีโอกาสชนะ เพราะจากการตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า บริษัทดังกล่าวทำผิดเงื่อนไข คือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทไม่สามารถดูแลความเรียบร้อยและทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้ต้องสั่งปิดเหมืองแร่

แต่คำชี้แจงไม่เห็นความจริง เพราะเมื่อปี 58 พล.อ.ประยุทธ์ ให้ 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทดังกล่าว และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นหลายคณะ เพื่อตรวจสอบแล้วเสร็จ และผลออกมาว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ เรื่องแนวทางแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ปี 2559 กรมอุตสาหกรรม และกรมเหมืองแร่ จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 การปิดเหมืองแร่ว่าหากการใช้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาตร์รองรับชัดเจนจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและไม่เห็นด้วยกับการนำมาตรา 44 มาบังคับใช้กับกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ ได้มีการส่งผลการประชุมดังกล่าวไปยังพล.อ.ประยุทธ์ โดยได้แนบสองแนวทาง คือ 1.การใช้กฎหมายตามปกติและดำเนินตามขั้นตอนและการใช้อำนาจมาตรา 44 ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ทั้งนี้ แม้จะมีหน่วยงานคัดค้าน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ยังใช้มาตรา 44 และการที่นำหลักฐานมาแสดงไม่ใช่เพื่อปกป้องบริษัทคิงส์เกต ฯ แต่ต้องการให้เห็นถึงความชอบธรรมการใช้อำนาจที่ไร้จิตสำนึกความรับผิดชอบร้ายแรงต่อประเทศ และนำมาสู่การฟ้องร้อง

น.ส.จิราพร กล่าวว่า มีกระแสข่าวในช่วงเดือนก.ย. 63 ที่รัฐบาลจะให้บริษัทอัคราฯได้รับอนุญาตให้นำผงทองคำและเงินออกมาจำหน่าย รวมถึงได้อาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทองคำเพิ่มอีก 44 แปลง และ พล.อ.ประยุทธ์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาแก้ข่าวในเรื่องนี้ว่าเป็นคำขอเดิมของบริษัทอัคราฯในปี 2546 เมื่อไทยมีพ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ จึงดำเนินการตามขั้นตอนปกติ

ในข้อมูลเอกสารที่ตนมีชี้ให้เห็นว่าไม่ใช้การดำเนินการที่ปกติ แต่เป็นประโยชน์ที่ประเทศไทยให้บริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อให้ดำเนินการถอนฟ้อง ทั้งนี้ ในการประชุมครม.เดือนมิ.ย.63 มีมติปรากฎในเอกสารลับที่สุดของรายงานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ โดยไฮไลท์ในหนังสือเขียนไว้ว่าหากตกลงกันได้บริษัทคิงส์เกตฯต้องถอนคดีจากอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเอกสารนี้ชี้ชัดว่าพล.อ.ประยุทธ์ รับทราบรู้เห็นเป็นใจว่าไทยแพ้คดีและมอบหมายให้หน่วยงานเจรจาเพื่อยอมความ มอบนโยบายให้เอาทรัพยากรของประเทศประเคนให้เพื่อให้เขายอมถอน อย่างไรก็ตาม หากจะสู้คดีมีที่ไหนจะต้องยอมความ ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการย้อนแย้งกับที่ได้ลั่นวาจาไว้ได้สั่งการไปแล้วว่าภายในสิ้นปี 2559 จะไม่มีการทำเหมืองแร่อีกต่อไป และต้องไม่มีเหมืองทองอีกต่อไป
“ถ้าไทยต้องแพ้คดีและจ่ายค่าโง่ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จดจำไว้ในมโนสำนึกว่ากำลังทำลายอนาคตของลูกหลานและคนไทยทั้งประเทศเพียงเพราะการลุแก่อำนาจ จะเป็นบทเรียนราคาแพงและเจ็บปวดของประเทศ ท่านปัดความรับผิดชอบครั้งนี้ไม่ได้ ต้องตอบให้ได้ว่าจะสู้คดีให้ถึงที่สุดแบบไปตายเอาดาบหน้าหรือจะยอมเอาทรัพยากรของประเทศประเคนให้ต่างชาติเพื่อแลกกับการถอนฟ้อง ถ้าท่านเดินหน้าต่อสู้คดีจนถึงที่สุดแล้วแพ้ อยากถามว่าจะเอาเงินส่วนใดไปจ่าย จะเอางบแผ่นดินหรือเงินส่วนตัว

และถ้าท่านเลือกใช้วิธีการเจรจาต่อรองเอาผลประโยชน์ของประเทศ แผ่นดินไปยกให้บริษัทเอกชน ขอเรียนว่าพรรคเพื่อไทยจะจับตาประเด็นนี้ เพราะแนวโน้มไทยมีโอกาสแพ้คดี 100 เปอร์เซ็นต์ บทสรุปของคดีนี้ประเทศไทยต้องจ่ายค่าโง่อย่างไม่มีทางเลือกหรือหลีกเลี่ยง ต้องเอาเงินมหาศาลไปแลกเพื่อคนๆเดียว เอาความผิดออกจากตัวเองและโยนภาระบาปให้ประเทศและประชาชนต้องรับผิดชอบแทน เป็นใบเสร็จความเสียหายชิ้นสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์คดีเหมืองทองอัคราฯ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นด้วยตัวเอง ออกคำสั่งทำลายประเทศจนย่อยยับ สร้างตราบาปให้ประเทศ กำลังทำลายโอกาสประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี “น.ส.จิราพร กล่าว

สุริยะ ลุกแจงยกข้อมูลโต้

จากนั้น นายสุริยะ ชี้แจงว่า การขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลงที่น.ส.จิราพร บอกว่าเป็นจำนวน 2 แสน-4 แสนไร่นั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องของอนุญาโตตุลาการ กับบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากคขอได้มีการยื่นมาตั้งแต่ปี 2546 และ2548 แค่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ในขณะนั้น มีมติให้ชะลอการพิจารณาการอนุญาติสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เนื่องจากห่วงใยเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยได้มีการให้สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปศึกษาและจัดทำนโยบายแร่ทองคำ ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2552

ต่อมาครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม นำความคิดเห็นดังกล่าว ไปพิจารณา ในเดือน พ.ค.2554 กระทรวงอุตฯ ได้พิจารณา ประกอบกับความเห็นจากหน่วยงานตางๆ และจัดทำประกาศนโยบายทองคำแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามระหว่างที่จัดทำนโยบายและเสนอครม. มีการยุบสภาเสียก่อน ทางสำนักงานเลขาธิการ ครม.จึงส่งเรื่องคืนมาที่กระทรวงอุตฯ หลังจากนั้นกระทรวงอุตฯ ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับนโยบายแร่ทองคำ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2557 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทอัคราฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ และประชาชนได้ยื่นข้อเรียกร้องไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ดังนั้นเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 ทางพล.อ.ประยุทธ์ จึงได้มีการออกคำสั่ง มาตรา44 ให้ผู้ประกอบการทองคำทุกรายทั่ประเทศ ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นการชั่วคราว ซึ่งตนคิดว่าในขณะนั้นใครก็แล้วแต่ที่อยู่ในฐานะนายกฯหรือหัวหน้าคสช.เมื่อมีการร้องเรียนของประชาชนและมีผลกระทบต่อสุขภาพมาตลอด ละใมีการขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

การที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งมาตรา 44 นั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นในขณะนั้น แต่ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ก็ให้นโยบายคณะกรรมการแร่แห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)ไปจัดทำนโยบายทองคำเพื่อให้การทำเหมืองแร่ทองคำสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนให้ได้ เพื่อให้เสนอต่อครม.

ต่อมาครม.ก็เห็นชอบในเดือน ส.ค.2560 และต่อมาคณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ ได้มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายทองคำได้ ดังนันบริษัทอัคราฯ จึงได้กลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจจำนวน 44 แปลงที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี2546 และ2548 ดังนั้นการการมาเดินเรื่องคำขออนุญาตดังกล่าว และทางกระทรวงอุตฯได้อนุญาตไปนั้นจึงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแร่แห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเพื่อการถอนฟ้องแต่อย่างใด

นายสุริยะ กล่าวว่า ส่วนที่ระบุว่าบริษัทคิงส์เกตฯ ได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 22,500 ล้านบาท และบอกว่ารัฐบาลไทยแพ้ร้อยเปอร์เซนต์ ขอบอกว่าถ้ารัฐบาลไทยแพ้ ร้อยเปอร์เซนต์ ทั้งคิงส์เกตฯ เขาคงไม่มาเจรจา เขาได้เงิน 22,500 ล้านบาท ก็เก็บใส่กระเป๋าทันที ทำไมจะเอามาแลกกับการขออาชญาบัตร เพราะกว่าจะลงทุนทำกำไลได้ ที่ผ่านมาระยะเวลา 15-20ปี บริษัทอัคราฯมาลงทุนในเมืองไทยกำไลคิดว่าไม่เกิน 5 พันล้านบาท

เพราะฉะนั้นถ้าเอาจำนวนครบต้องอีก 25 ปี ถึงจะได้มา 22,500 ล้านบาท ดังนั้น ขอยืนยันว่าการที่คิงส์เกรต กลับมาเจรจานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องทางรัฐบาลจะไปเอื้อประโยชน์ให้เขา แต่เขาคิดว่าการกลับมาดำเนินกิจการต่อเพราะคิกว่าราคาทองคำเป็นราคาที่ขึ้นมาพอสมควร

บิ๊กตู่ ลุกขึ้นโต้ โยงถึงหนี้จำนำข้าว !

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบ ข้อพิพาทเริ่มต้นขึ้นที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ แล้วใช้ช่องทางกฎหมายระหว่างประเทศ ในการฟ้องร้องรัฐบาลไทย ในสิ่งที่เขาเห็นว่าบริษัทลูกไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่ปี 2550 เช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยต้องต่อสู้ ในสิ่งที่รัฐบาลไทยและประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน ในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม การใช้พื้นที่ต้องสำรวจดูว่าถูกต้องไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ผ่านมาต่อสู้ตามกฎหมายสากล ที่รัฐบาลไทยเป็นสมาชิกอยู่และต้องตั้งทนายขึ้นมาสู้ในเวทีสากล รัฐบาลไทยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปต่อสู้คดี มีงบประมาณที่ใช้ในการจ้างทนาย ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นเวทีระหว่างประเทศที่มีพันธสัญญาระหว่างกันต้องปฏิบัติให้ได้ คือการนำเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ

สิ่งสำคัญที่อาจกระทบต่อการพิจารณาคดีคือ เอาเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลเอาออกมาพูดภายนอก และฝ่ายค้านได้นำมาอภิปรายให้ข่าวกับสื่อหลายครั้ง ซึ่งปรากฏว่าเป็นการคาดการณ์เอาเองทั้งสิ้น เป็นการนำตัวเลข จากข้อมูลที่เป็นข้อเสนอ หรือ คำให้การแต่ละฝ่ายที่ไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้ข้อยุติซึ่งเป็นอันตราย ดังนั้น ยังไม่ปรากฏเป็นความจริง เรื่องยังอยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการเจรจาหารือของผู้พิพาท ไม่สามารถไปชี้นำได้

นายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าใช้อำนาจมาตรา 44 นั้น คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่ไปปิดเหมือง แต่เป็นเรื่องการต่อสัมปทานซึ่งมีคำสั่งทุกเหมืองในประเทศไทย ในการต่อสัมปทานอาชญาบัตร จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากข้อสงสัยของประชาชนที่เรียกร้องมา ถึงแม้ไม่มีข้อยุติอย่างชัดเจน แต่มีหลักฐานจากโรงเรียน ครู จำเป็นต้องตรวจสอบ เราไม่ได้ปิดเหมืองแร่อัคราฯแต่เพียงเหมืองเดียว แต่การจะต่ออาชญาบัตรต้องแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว และบริษัทไหนที่แก้ได้ตามนั้นก็เปิดเป็นปกติการที่เขาจะได้หรือไม่ได้ อยู่ที่การเจรจาพูดคุย ไม่ได้เสนอประโยชน์

เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ชาติและประชาชน วันนี้เรามี พรบ.แร่ 2560 ออกมาแล้ว เราสามารถถลุงแร่ ส่งออกแร่เองได้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศมากขึ้น ถ้าเราสำรวจแร่พบ อาจเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตแร่ทองคำ เพราะที่ผ่านมาเรานำไปถลุงแร่ที่ต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งกฎหมายใหม่ให้มีการถลุงแร่ทองอย่างเดียวที่บอกว่าขอบริษัทอัครา ฯ ขอที่เป็นแสนไร่เป็นแค่การขอสำรวจ แต่การขอดำเนินการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำรวจเจอตรงไหนก็ต้องดูว่าจะอนุญาตได้หรือไม่ ประชาชนจะยอมหรือไม่ วันนี้นำหลักการสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจมาประกอบ เท่าที่ทราบบริษัทเขาปรับตัวแล้ว ถ้าที่ไหนที่ประชาชนไม่อยากได้เขาก็หลีกเลี่ยงให้อยู่แล้ว
“เรื่องนี้รับผิดชอบในฐานะนายกฯ ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอำนาจ ด้วยคำสั่ง มีการหารือปรึกษาทั้งฝ่ายกฎหมาย ราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยราชการ เพื่อทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะสุขภาพประชาชน มันต้องมีคนเดือดร้อน แต่ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่ต้องจำเป็นในบางอย่าง หลายอย่างเกิดก่อนหน้าผม ทำไมรัฐบาลนี้ต้องมาแก้ ทำไมไม่แก้ให้เสร็จเรียบร้อย ทำไมมาถึงตอนนี้ ถ้าสนใจสักหน่อย ประชาชนต้องการปัญหาอะไรก็แก้ปัญหาให้เขา พร้อมทำอะไรใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยบ้าง โดยเฉพาะทำอย่างไรจะมีรายได้ให้มากยิ่งขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการชดเชยหนี้ประเทศจากความเสียหายในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ว่า ทุกวันนี้เรามีภาระที่จะต้องจ่ายในเรื่องผลการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว โครงการนี้ได้ชดเชยไปแล้ว 7.05 แสนล้านบาท วันนี้เหลือหนี้จำนำข้าว อยู่ที่ปี 63 ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยอีก 800 ล้านบาท และยังต้องตั้งงบประมาณชดเชยแบบไม่ได้อะไรเลย ปีละ 20,000 ล้านบาท และต้องตั้งไปอีก 12 ปี ตนก็เสียดาย

นอกจากนี้ยังมีภาระหนี้จากโครงการบ้านเอื้ออาทร ทิ้งหนี้ให้กับการเคหะกว่า 20,000 ล้านบาท มีบ้านที่สร้างเสร็จแล้วขายไม่ได้อีกหลายหมื่นยูนิต สิบปีที่ผ่านมาการเคหะแบกรับโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ล้มเหลวยอดความเสียหาย 10 ล้านบาทไม่รวมหนี้เน่าและภาระดอกเบี้ยที่กู้มา

“รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้แก้ไขปัญหาทุกประเด็นที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลไม่ต้องการขึ้นภาษีกับใคร เห็นหรือไม่ว่ายังไม่ได้ขึ้นภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่รายได้ประเทศตอนนี้ลดลง ฉะนั้นการที่บอกว่าให้คนนั้นคนนี้น้อยไปมากไป ลองคิดให้ละเอียดไม่ต้องถึงกับเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็ได้”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส.ส.เพื่อไทย ผิดหวัง สุริยะ-ประยุทธ์ ไม่ฟัง ตอบคนละคำถาม

จากนั้น น.ส.จิราพร ลุกขึ้นขอบคุณนายกฯและนายสุริยะ ที่ชี้แจง แต่ฟังแล้วผิดหวัง แสดงว่าไม่ได้ฟังการอภิปรายของตนเลย เพราะคำตอบที่ตอบนั้นเป็นการอ่านตามโพยที่หน่วยงานเขียนให้ ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ไม่ได้อัปเดตข้อมูล และไม่ได้ตอบคำถามของตนแม้แต่คำถามเดียว และการที่รมว.อุตสาหกรรม บอกว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องไปจัดการ ประเด็นนี้ตนไม่เถียงที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล

แต่ประเด็นคือรัฐบาลไม่ใช้กฎหมายปกติเข้าไปจัดการ แต่ใช้มาตรา 44 ที่ต่างประเทศไม่ยอมรับ เข้าไปจัดการโดยที่ไม่มีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เตือนแล้วว่าอย่าทำแบบนั้น เพราะจะถูกฟ้องร้อง แต่รัฐบาลไม่ฟังแล้ววันนี้ไทยก็ถูกฟ้องร้องอาจจะต้องแพ้คดี ตอนนี้ใบเสร็จก็ออกมาแล้วว่ามีค่าใช้จ่าย 600 ล้านบาทที่ใช้ต่อสู้คดีในอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ด้วย เพราะความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ตนขอถามว่าถึงวันนี้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่าการให้ 44 แปลงและเปิดทางให้ขายผงเงิน ผงทองคำนั้นเป็นเรื่องปกติ ขอถามกลับว่าถ้าเป็นปกติ ทำไมไปอยู่ในข้อต่อรองระหว่างไทยกับคิงส์เกตฯ เพราะมีจดหมายที่คิงส์เกตฯเขียนมาขอบคุณประเทศไทยด้วย และมีการเขียนจดหมายไปแจ้งต่ออนุญาโตตุลาการว่าข้อตกลงนี้ได้คุยกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่นายสุริยะ บอกว่าคิงส์เกตฯจะชนะ ถ้าจะชนะจริงทำไมคิงส์เกตฯถึงมาเจรจากับไทย

ขอถามกลับว่าถ้ารัฐบาลไทยมั่นใจว่าคิงส์เกตฯจะชนะคดีแล้วไปเจรจาต่อรองเขาทำไม แล้วการต่อรองมีแต่ไทยให้คิงส์เกตฯโดยที่ไทยไม่ให้อะไรเลย นอกจากความหวังลมๆแล้งๆว่าจะถอนฟ้อง ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมขณะนี้คณะอนุญาโตตุลาการยังไม่มีออกมาแต่เปิดให้สำรวจแล้วโดยอ้างว่าเป็นการสำรวจไม่ได้ทำ ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูให้ทำเหมือง
“ดิฉันผิดหวังการตอบคำถามของพล.อ.ประยุทธ์ ท่านอ่านตามที่หน่วยงานเขียนโพยมาให้ ถ้าทานทำอย่างนั้น ท่านถ่ายเอกสารที่อยู่ในมือส่งแจกสมาชิกอ่านเอาเองก็ได้ เพราะไม่ได้ตอบคำถามในเนื้อหาสาระที่ดิฉันได้ถามไปเลย “น.ส.จิราพร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน