“ทักษิณ” คัมแบ็ก Clubhouse เล่าชีวิตล้มลุก และรุ่งโรจน์ แนะธุรกิจเอสเอ็มอี ต้องมีไอเดีย ตอบชัดต้องทำยังไง หากต้องผลิตสินค้าสู้จีน วิเคราะห์ธุรกิจหลังโควิด

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 3 มี.ค. กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย เปิดห้องผ่านแอเพลิเคชั่น Clubhouse โดยได้เชิญ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “SMEs มีปัญหา ปรึกษา พี่โทนี่” โดยมีผู้รับฟังผ่านคลับเฮ้าส์ในห้องหลักกว่า 8 พันคนภายใน 2 นาที จากนั้นมีการถ่ายทอดเสียงไปยังห้องอื่นๆ รวมถึงในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ร่วมรับฟังรวมกว่าแสนคน โดยมี โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ , ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง , ธีรัตถ์ รัตนเสวี ร่วมเป็นพิธีกรดำเนินรายการ

ทั้งนี้ นายทักษิณ ในชื่อแอคเคาน์ว่า Tony Woodsome เริ่มเล่าถึงชีวิตในอดีตจากการทำธุรกิจล้มเหลว ตั้งแต่ทำธุรกิจผ้าไหม ทำคอนโด ทำโรงหนัง ติดหนี้เช็กเด้ง จนโดนคดีหลายครั้ง ก่อนจะค่อยๆประสบความสำเร็จจากการทำธรุกิจเมนเฟรม คอมพิวเตอร์กับบริษัทไอบีเอ็ม โดยได้รับทุนจากภรรยา ก่อนจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจการสื่อสาร เคเบิลทีวีไอบีซี โฟนลิงค์ จนกระทั่งอายุ 43 นิตยสารฟอร์บส์ ประเมินทรัพย์สินของตนเอาไว้ที่ 60,000 ล้านบาท

ทักษิณ เล่าถึงวิธีคิดในการลุกขึ้นจากความล้มเหลว ว่า ปัญหามีไว้แก้ เวลานอนอย่าแบกปัญหาเอาไว้ ต้องรู้จักการปล่อยวาง ยกตัวอย่างตนมีคดีวันรุ่งขึ้นก็นอนหลับได้เสมอ ตื่นขึ้นมาค่อยคิดใหม่ และบอกด้วยว่าที่ปรึกษาที่ดีที่สุดของตนคือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภรรยา

ทักษิณ เล่าด้วยว่า การจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น การเงินจะต้องโปร่งใส ต้นทุนต้องโปร่งใสจะได้รับความเชื่อมั่น ขณะที่ SME นั้นการจะเข้าตลาดจะต้องเริ่มทำ บัญชีชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเราเป็นอย่างไร นอกจากนี้การทำบัญชียังช่วยให้ปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจได้ด้วย ยกตัวอย่างตนเคยใช้ซอฟท์แวร์มูลค่า 150 ล้านบาท ทำให้ระบบบัญชีสามารถปิดบัญชีได้ทุกวัน สามารถคุมระบบได้ การทำธุรกิจต้องกล้าใช้เทคโนโลยี และใช้บริการที่เป็นมืออาชีพ

ทักษิณ พูดถึงเรื่องการบริหารคนด้วยว่า ตนเป็นคนไม่หยุดนิ่ง ต้องพัฒนาตัวเองตลอด ครั้งหนึ่ง บริษัท AIS ที่เคยเป็นเบอร์ 1 มาตลอด อยู่ๆ กลายเป็นเบอร์สอง เพราะแพ้ DTAC สาเหตุที่แพ้ก็คือ การดึงคนที่มาจากรัฐวิสาหกิจ และระบบราชการมาร่วมงาน ทำให้มายเซ็ตดังกล่าวกลายเป็นการทำให้วัฒนธรรมองค์กรที่เต็มไปด้วยระบบระเบียบมากมายจนทำงานไม่ได้ ตนจึงเรียกลูกน้องทั้งหมดมาคุย และต้องออกกฎว่า ใครทำผิดกฎแล้วเป็นประโยชน์กับบริษัทจะเพิ่มเงินเดือนให้ สุดท้ายระเบียบราชการต่างๆลดลงเรื่อยๆ และบริษัทกลับมาเป็นอันดับ 1 อีกครั้ง”

แนะธุรกิจ SMEs ทบทวนไอเดียธุรกิจ ชี้สำคัญกว่าเงิน

จากนั้น นายทักษิณ กลับมาพูดถึงเรื่อง SMEs โดยระบุว่า ให้ทบทวนไอเดียธุรกิจ ว่าทำถูกทางหรือไม่ เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเงิน เอาไอเดียมาคิดก่อน อย่าโลภ ให้ปล่อยวาง และคิดให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นทำได้จริงหรือไม่ มีความคิดสร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ ต่อไปลูกค้าจะไปทางดิจิทัลหมด หากได้ไอเดียแล้ว ค่อยไปขอทุนกับธนาคาร ธนาคารก็จะให้กู้ ส่วนวิธีทดสอบว่าไอเดียถูกต้องหรือไม่ ให้ทดสอบและเซอร์เวย์แบบง่ายๆก่อน

เมื่อถามว่า สำหรับคนที่เป็นพนักงานบริษัท และกำลังจะตัดสินใจ ออกมาเป็น SMEs โทนี่แนะว่า ต้องมีไอเดียก่อน ที่สำคัญต้องแตกต่างจากคนอื่น การอ่านหนังสือ การได้เรียนรู้แบบไม่หยุดจะช่วยให้มีไอเดียมากขึ้น ไปงานสัมมนา หรืองานแสดงสินค้าก็ช่วยให้สร้างความแตกต่างได้

เมื่อถามว่าธุรกิจในยุคหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ทักษิณ ระบุว่า โควิด ทำให้คนได้รับบทเรียนหลายอย่าง เช่น ด้าน สุขภาพ คนจะเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งการรักษาความสะอาด ภูมิคุ้มกัน จากการกินอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เรื่องสุขภาพ จะมาแรง หลังจากที่ทุกอย่างเปิด จะมีการ “ช็อปปิ้งแบบแก้แค้น” ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ โดยในออนไลน์นั้นจะมาแรงอย่างยิ่ง

นายทักษิณ ระบุว่าหลังจากนี้ จะมีการเรียนรู้จากที่บ้านจะเพิ่มมากขึ้น ในอนาคต 20 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานจะทำงานที่บ้าน ซึ่งปัจจุบันก็มีการปรับตัวกันมากแล้ว ส่วนภาคการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวทางธุรกิจจะลดน้อยลง การท่องเที่ยวแบบพักผ่อนหย่อนใจจะมากขึ้นเพราะคนเก็บกด สปริงจะกลับมาเด้งขึ้น ธุรกิจต่างๆก็ต้องปรับตัวรับนักท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น

นายทักษิณ ยังเสนอเรื่อง คราวด์ฟันดิ้ง ที่ทำให้มีการกู้ยืมแบบ peer to peer ได้ นอกจากนี้ยังเสนอเรื่อง major capital ซึ่งตนก็ใช้วิธีการนี้ลงทุนในสตาร์ทอัพในอังกฤษเช่นกัน เมื่อมีคนมาเสนอไอเดีย ตนก็ให้ทุนไปทดลอง และเริ่มต้นธุรกิจต่อไป สำหรับเรื่อง Bitcoin (บิดคอยท์) และ สกุลเงินดิจิทัล ทักษิณระบุว่า จะขึ้นไปเรื่อยๆ แต่รายย่อยจะล้มเหลวได้ง่าย เหมาะกับการถือยาวๆมากกว่า โดยตนเล่นในเงินดิจิทัลและเล่นแค่เพียงนิดเดียว

ทั้งนี้ นายทักษิณ กล่าวว่า ภายในปี 2022 แรงงานทั้งโลกต้องปรับการทำงาน และพัฒนาการทำงานให้มากขึ้น เนื่องจากจะมีหุ่นยนต์จะมาแทนที่ สำหรับไอเดียธุรกิจใหม่ๆ ตนเองก็อายุมากแล้ว จะทำอะไรใหม่ๆเสี่ยงๆนั้นไม่มีแล้ว แต่จะเป็นการนำเงินไปลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่ๆที่น่าสนใจมากกว่า

ตอบชัดทำอย่างไร หากต้องผลิตสินค้าสู้ของจีน

จากนั้น มีการเปิดให้ถามและตอบ โดยผู้ร่วมรับฟังในห้องหลัก เมื่อผู้ร่วมสนทนา ถามถึงธุรกิจที่บ้านตนเองทำแข่งขันกับบริษัทในประเทศจีน เราจะทำอย่างไร ซึ่งโทนี่ได้ตอบว่า นี่คือปัญหาที่จะมาอีกเรื่อยๆ เพราะศัยภาพในการผลิตสินค้าของจีนมีมาก เขาสามารถทำได้ในราคาถูก และเร็ว เราอาจจะเหนือกว่าเขาได้คือความสร้างสรรค์และคุณภาพ แต่ถ้าจะแข่งขันกันที่ผลิตภัณฑ์เราสู้ยากมาก ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยว่าจะทำอย่างไรให้เราสู้เขาได้ ให้คนในประเทศสู้เอง ซึ่งเราสู้ไม่ไหวแน่นอน

นายทักษิณ กล่าวว่า ดังนั้น เราต้องคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง และปรับความสามารถของเรา นอกจากนี้ รัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้ความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการในประเทศ ทำอย่างไรให้คนไทยมีโอกาสแข่งขัน จับมือกันในอาเซียนไหม ต้องเดินเกมส์เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ และมียุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ มืเช่นนั้น เราสู้ยักษ์ใหญ่อย่างจีน และอเมริกาไม่ได้เลย

เมื่อถามถึงปัญหาการผูกขาด ปลาใหญ่กินปลาเล็ก การแข่งขันกับต่างชาติ ยกตัวอย่างการเริ่มธุรกิจแบบทักษิณนั้นทำได้ยาก กฎหมายไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งนายทักษิณตอบว่า ปัญหาปลาใหญ่กินปลาเล็กเป็นเรื่องปกติของทุนนิยม แก้ปัญหานี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น หลังจากนี้แต่ละประเทศจะมีนโยบายเรื่องปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้นในเวทีต่างประเทศ ซึ่งไทยเราก็ต้องมีด้วย โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19

เมื่อถามว่า หากคุณโทนี่เป็นนายกรัฐมนตรี จะส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ อย่างไร นายโทนี่ตอบว่า สตาร์ทอัพคือการสร้างธุรกิจใหม่ด้วยไอเดียใหม่ เราจะสร้างช่องทาง โดยอาจจะประกวดไอเดียสตาร์ทอัพ และต้องมีกองทุนให้มหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กและอาจารย์มาร่วมกันคิดเพื่อสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการในสิ่งนี้

มีช่วงหนึ่งมี อดีต นศ.ม.ธรรมศาสตร์ เข้าฟังมาบอกเล่าปัญหาเรื่องระเบียบที่ทำให้ค้าขายปลาสวยงามไม่ได้ นายทักษิณจึงแนะนำว่า ให้บุกไปพบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์เลย เพราะคนที่บุคลิกนักเลงๆแบบนี้ ตนเชื่อว่าเขากล้าช่วย ดีไม่ดี จะสามารถแก้ไปหาให้ได้ทันทีเลย สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้รับฟังภายในห้องเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ในระหว่างการพูดคุยใน Clubhouse นายได้แนะนำในหลายเรื่องหลากประเด็น และมีการกล่าวถึงหนังสือหลายเล่ม โดยแนะนำหนังสือดี 2 เล่ม ที่พี่โทนี่แนะนำให้ทุกคนได้อ่านกัน เล่มแรก คือ ARTIFICIAL INTELLIGENCE โดย Harvard Business Review

โดยเล่มนี้ ได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ โดยได้เล่าว่า AI ทำงานอย่างไร ถูกนำไปใช้อย่างไร และเป็นประโยชน์อย่างไร รวมถึงพิจารณาถึงแนวคิดพื้นฐานและหลักการของ AI ไว้ 4 ส่วน คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ AI และ Machine Learning การนำ AI มาใช้ในปัจจุบัน AI และอนาคตของการทำงาน อนาคตข้างหน้าของ AI ซึ่ง AI จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณ ถ้าธุรกิจของคุณไม่ปรับเพื่อรับกับ AI ธุรกิจของคุณจะกลายเป็นธุรกิจของเมื่อวานในทันที!

ส่วนเล่มที่ 2 คือ THE THIRD WAVE ของ Alvin Toffler เล่มนี้ได้กล่าวถึงยุคสมัยการเปลี่ยนแปลง หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า “คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง” ทั้ง 3 ลูก ไล่เรียงจากอดีตสู่อนาคต คลื่นลูกที่ 1 คือ การปฏิวัติเกษตรกรรม คลื่นลูกที่ 2 คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่ 3 คือ การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร

ซึ่งคลื่นทั้ง 3 ลูกนี้ คือสึนามิที่ทำลายวิถีชีวิตในอดีตและเริ่มศักราชใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องวัฒนธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ หากใครปรับตัวไม่ทัน หรือยืนขวางสึนามิแห่งการเปลี่ยนแปลงจะต้องจมหายไปในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน