ก้าวไกล คลี่แผนงบปี 65 รัฐปรับลดงบสวัสดิการ หั่น เงินบัตรทอง-กองทุนการศึกษา ชี้ จับตา ก.พลังงาน บวกเพิ่ม 19% เล็ง ประชุมออนไลน์ ให้ ปชช.ร่วมวางแผน

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย กล่าวถึงการเตรียมพร้อมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ว่า เบื้องต้นตนเห็นข้อมูลงบระดับรายกรมและแผนงานต่างๆ จึงทำข้อสังเกตเบื้องต้นขึ้นมาก่อน อย่างแรกคือ เป็นรอบแรกในรอบ 12 ปีที่ปรับลดงบประมาณลง คือ ปรับลดลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท จาก 3.29 ล้านล้านบาทในปี 2564 ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อสังเกตได้ ดังนี้ คือ

1.) 17 จาก 20 กระทรวงถูกปรับลดงบประมาณ โดยกระทรวงที่ถูกปรับลดงบมากที่สุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ โดยถูกปรับลดลงกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมาการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยรับงบประมาณที่ถูกปรับลดมากที่สุด โดยถูกปรับลดลงถึงกว่า 20,000 ล้านบาท ในจำนวนนั้น 13,264 ล้านบาท เป็นการลดงบในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ซึ่งก็คือส่วนของเงินเดือนค่าตอบแทน ส่วนกระทรวงที่ถูกตัดงบมากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ กระทรวงแรงงาน ลดลง 19,977 ล้านลาท กระทรวงมหาดไทย ลดลง 17,144 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม ลดลง 14,100 ล้านบาท

2.) มี 3 กระทรวงที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงที่ได้รับงบเพิ่มมากที่สุด คือ กระทรวงการคลัง คาดว่าจะเป็นเงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รองลงมาคือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยได้รับงบประมาณเพิ่ม 2,300 ล้านบาท โดยไปเพิ่มให้กับกรมเด็กและเยาวชน ดังนั้น คงต้องลุ้นกันต่ออีกปีว่าจะเป็นเงินเลี้ยงดูเด็กแบบถ้วนหน้าหรือไม่ ส่วนกระทรวงที่งบประมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คือกระทรวงพลังงาน โดยมีสัดส่วนงบประมาณเพิ่มขึ้น 19% เพิ่มให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (+80%) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (+37%)

3.) กระทรวงกลาโหมถูกปรับลดงบประมาณลง 11,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.24% แต่ที่น่าสนใจคืองบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นทั้ง 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก เพิ่มขึ้น 799 ล้านบาท เป็น 58,892 ล้านบาท กองทัพเรือ เพิ่มขึ้น 531 ล้านบาท เป็น 21,283 ล้านบาท และกองทัพอากาศ เพิ่มขึ้น 365 ล้านบาท เป็น 13,258 ล้านบาท 4.) งบเพื่อสวัสดิการและการศึกษาหลายอย่างถูกตัด แม้เราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ถูกตัดงบลง 5,740 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ถูกตัดงบลง 432 ล้านบาท เหลือ 5,652 ล้านบาท

หรือแม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ถูกปรับลดงบประมาณลง 1,815 ล้านบาท เหลือเพียง 140,550 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ สปสช. เองก็คาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่เข้ามาใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 137,000 คน ในปี 2564 และอาจมีเพิ่มมากขึ้นหากสภาวะทางเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่

5.) รัฐเอาเงินอุดหนุน อสม. ออกจากเงินอุดหนุน อบจ. กลับไปให้กระทรวงสาธารณสุข (ประมาณปีละ 12,500 ล้านบาท) แต่ก็ไม่ได้มีการชดเชยเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้ อปท. โดยในปีงบประมาณ 2565 รัฐอุดหนุนเงินให้ อปท. ลดลง 5% (หลังหักเอาเงิน อสม. ออกแล้ว) และคาดว่า อปท. จะมีรายได้น้อยกว่าปีงบประมาณก่อนประมาณ 76,000 ล้านบาท หรือลดลง 9% ทั้งนี้ รายได้ของ อปท. อาจต่ำกว่าที่ประมาณการลงอีก เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการให้ลดภาษีที่ดิน ซึ่งเป็นรายได้โดยตรงของท้องถิ่นลงถึงร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี 2564 และหากการเก็บภาษีของรัฐไม่เป็นไปตามเป้า ก็จะทำให้รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ และรายได้ที่รัฐแบ่งให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดลงไปอีก

“หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะประชุมเพื่อกำหนดธีมและหัวข้อในการอภิปราย ซึ่งเรายังยืนยันเรื่องการจัดสรรสวัสดิการที่ต้องครบถ้วนและครอบคลุมมากว่านี้ สำหรับปีนี้พรรคจะมีโปรเจ็กต์นำข้อมูลงบประมาณทั้งหมดของปี 2565 มาให้ประชาชนได้รับทราบและร่วมพิจารณางบว่า งบส่วนไหนที่ตัดได้ เพื่อนำไปเติมส่วนงบสวัสดิการ เพื่อให้รัฐบาลเห็นว่าประชาชนอยากจัดสรรงบประมาณมาใส่ในส่วนงบสวัสดิการเท่าไหร่ ซึ่งคาดว่าจะจัดการประชุมในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน