กลา(โหม)แลนด์

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

 

ดิ้นกันพล่าน ด่ากันขรม เมื่อนักเรียนสวนกุหลาบถือ ป้ายผ้า “ไทยแลนด์แดนกะลา” ในขบวนพาเหรดฟุตบอลประเพณีจตุรมิตร

หาว่าดูหมิ่นแผ่นดินถิ่นเกิด ไม่มีสำนึกกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน จะชอบหรือไม่ชอบนักการเมือง ทหาร หรือระบอบใด ก็ไม่ควรเนรคุณด่าแผ่นดินเกิด โรงเรียนระดับหัวกะทิของประเทศ สร้างคนที่มีสำนึกเหมือนคนที่เป็นศัตรูของประเทศได้อย่างไร บ้างก็บอกว่า “พวกชังชาติ” ปลุกระดมเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถ้าปล่อยไป จะเกิดคนอย่างเนติวิทย์อีกมากมายมหาศาล (เย้!)

อันที่จริง เด็กหมายถึงระบอบการศึกษาไทยอยู่ในกะลา ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ แต่คนด่าคงมองว่าเหมือนกันละน่า เนติวิทย์ก็วิพากษ์การศึกษา แถมบางคนอาจบอกว่านี่ละ ผลของการศึกษาที่ไม่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม สมควรแล้วที่บังคับ ท่องค่านิยม 12 ประการ เอาทหารไปฝึกเด็กสาธิต

คนเหล่านี้คงอยากให้ใช้กฎหมายบังคับ ใครพูด “กะลาแลนด์” มีความผิดต่อความมั่นคง “ไม่รักชาติ” ต้องช่วยกันป่าวประกาศ ไทยแลนด์คือแผ่นดินที่น่าภาคภูมิใจ ถึงแม้ตกต่ำทางการเมือง เศรษฐกิจ ก็ยังมีสตรีตฟู้ดติดอันดับต้นๆ ของโลก ถึงแม้ไม่มีประชาธิปไตย ก็ยังฝักใฝ่คุณธรรม

หรืออย่างน้อย ใครไม่ชอบรัฐประหาร ก็โทษรัฐบาลสิ อย่าเหมารวมเพื่อนร่วมชาติที่ไปเป่าปี๊ดๆ

คำว่า “กะลาแลนด์” หรือ “แดนกะลา” ฮิตมา 2-3 ปีแล้ว ล่าสุดเพจ Doublestandard ก็เอาไปอำจนเกิดคำใหม่ “กลาโหมแลนด์” ฉะนั้น ชัดเจนนะ คำนี้ฮิตหลังรัฐประหาร แต่ทำไมไม่โทษรัฐประหาร มาโทษเพื่อนร่วมชาติ โทษแผ่นดินถิ่นเกิด

ก็เพราะรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของทหาร ลุงตู่ ไม่แค่อยู่ได้ด้วยปืน แต่มีฐาน “คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี” ที่สืบทอดมาตั้งแต่ม็อบนกหวีด

ยิ่งไปกว่านั้น การต่อสู้ทางการเมืองรอบนี้ ซึ่งเป็นผลพวงความขัดแย้งสิบปี ยังขยายไปกว้างกว่าเอาทหาร ไม่เอาทหาร เอาทักษิณ ไม่เอาทักษิณ แต่มันกลายเป็นการต่อสู้ทางทัศนคติ ที่ขุดรากเหง้าทางความคิด วัฒนธรรม ค่านิยม “ความเป็นไทย” ขึ้นมาต่อสู้กับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม และความยุติธรรม

ดูกันง่ายๆ จากรัฐธรรมนูญ 2560 มาถึง 4 คำถาม 6 คำถาม นี่ไม่ใช่การกวาดล้าง “นักการเมืองชั่ว” แล้วกลับไปเลือกตั้งอย่างที่เป็นมา แต่คือความพยายามสถาปนารัฐแห่งความมั่นคง ที่ชูธงอุดมการณ์ เพื่อปกป้องศีลธรรมจรรยา วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ต้องจำกัดอำนาจประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง จำกัดความคิดเห็น จำกัดการแสดงออก แล้วจะนำไทยแลนด์สู่ 4.0 ภายใต้รัฐราชการ 1.0

แค่วาทกรรม “ไทยแลนด์โอนลี่ Vs ประชาธิปไตยฝรั่ง” ก็เห็นแล้วว่า “ความเป็นไทย” กลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง จนนำมาสู่ “ไทยแลนด์แดนกะลา”

รัฐประหารครั้งนี้ท่องคาถาศีลธรรม โดยมีลุงตู่เป็นผู้นำสวดมนต์ไหว้พระ ให้โอวาท จะฟังไม่ฟังก็ตามใจ แต่นี่คือสังคมไทยที่ชอบให้มีคนสั่งสอนหน้าเสาธง โดยศีลธรรมหลักคือความซื่อสัตย์ กตัญญู เชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ สำนึกในบุญคุณแผ่นดิน เมื่อสำนึกแล้วก็ต้องอยู่ในโอวาท ในคำสั่ง อย่าเอา แต่ใจตัว อย่าออกนอกกรอบ อย่าเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ อย่าทวงถามความยุติธรรม หรือกระทั่งอย่าถามหาตรรกะเหตุผล (ซึ่งเป็นของฝรั่ง)

แล้วรัฐที่ประชาชนต้องสำนึกบุญคุณนี้จะจัดการให้ทุกอย่าง ตั้งแต่บัตรคนจนไปถึงเรือดำน้ำ ชาวบ้านมีหน้าที่ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนรัฐ หรือช่วยกันบริจาค แล้วชาติจะเจริญ

วิกฤตสิบปีลากเอาความคิดค่านิยมที่ปลูกฝังมาหลายสิบปีขึ้นมาต่อสู้กัน ระหว่างโลกเก่า Vs โลกใหม่ ระหว่างอนุรักษนิยม Vs ลิเบอร่าน ซึ่งขยายไปทุกปริมณฑล เช่นเรื่องโซตัส เรื่องบังคับให้เด็กเข้าแถว เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ข้อห้าม คำสั่ง ไปจนศาสนา ความเชื่อ หรือว่าเหล้าเบียร์

แต่ละประเด็นมีคนเห็นด้วยเห็นต่างมากน้อยแตกต่างกันไป จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทั้งหมดนั้นรวมศูนย์อยู่ที่ทัศนะ “คุณพ่อรู้ดี” VS สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

นั่นแหละคือประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ซึ่ง ถ้ามองให้กว้างออกไป ระหว่างวัฒนธรรมเอเชียกับฝรั่ง ก็ยิ่งเห็นชัด อย่างจีนยุคสี่ จิ้นผิง พยายามปลูกฝังลัทธิขงจื๊อ

แต่อย่าเข้าใจผิดว่าสิทธิเสรีภาพบุคคลเป็นของฝรั่ง มันเป็นความต้องการของมนุษย์ทุกคน ทุกชาติศาสนา ซึ่งผู้ปกครองพยายามจะงัดเอาวัฒนธรรมประเพณี หรืออ้างเอา “อัตลักษณ์” มายับยั้ง เช่นจีนอ้างประชาธิปไตยอัตลักษณ์จีน

ถามว่าความเป็นไทยสามารถไปกันได้ไหม กับประชา ธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค เท่าเทียม และยุติธรรม จริงๆ ก็ไปกันได้ เราอยู่กันมาได้ตั้งนาน มีวิวัฒนาการคลี่คลายมาเรื่อยๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งกลับไม่ยอมไปต่อ จนเกิดวาทกรรม “ไทยแลนด์แดนกะลา” นี่เอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน