“รมว.คลัง” ร่ายยาวแจง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน การันตีภาระหนี้ไม่เกินเพดานสากล ด้าน “ไพบูลย์” ส.ส.พลังประชารัฐ อวย นายกฯ คนดีท้องแท้ไม่กลัวไฟ

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุมพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดต่เชื้อไวรัสโคโนนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

โดยนายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงเหตุผลว่า ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อ โควิด-19 มาต่อเนื่องผ่านแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ แต่พบว่า ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดในระลอกใหม่ได้ อีกทั้งเงินทุนสำรองจ่ายที่เหลืออยู่ มีไม่เพียงพอ ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี2564นั้น รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ปี 2564 มีข้อ จำกัดและได้รับผลกระทบจากการระบาดจากเชื้อ โควิด-19

หากจะรอแหล่งเงินจากงบประมาณปี2565 จะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ซึ่งงบประมาณดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีงบประมาณปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีจำเป็นเร่งด่วน มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาลในการตราพ.ร.ก.ฉบับนี้

นายอาคมกล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ มีสาระสำคัญคือ การให้อำนาจกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 5แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30ก.ย.2565 เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายใน 3 แผน งานคือ

1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อ โควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน วงเงิน3หมื่นล้านบาท 2.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 3แสนล้านบาท และ3.แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.7แสนล้านบาท

“การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า ความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ มีการกำหนดกรอบการใช้เงินที่สอดคล้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบรัดกุม รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลกได้กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้สิ้น ปี 2564 ระดับหนี้ภาครัฐบาลของโลกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 92 ล้านล้าน เหรียญสหรัฐ หรือ2,760 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ตัวเลขหนี้ของไทย สิ้นเดือน เม.ย.2564 อยู่ที่ร้อยละ 50.69 ต่อจีดีพี ยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สากล

โดยระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ ไม่มีระดับตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลมีเจตนาเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะทำด้วยความรอบคอบ อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง” นายอาคมกล่าว

ต่อมา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และชื่นชมการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ตัดสินใจกู้เงินเพื่อสู้กับไวรัส โควิด-19 เพราะถ้าไม่มี พ.ร.ก. ประชาชนจะอยู่อย่างไร และแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร จากนักการเมืองด้วยกัน

ขอให้นายกฯ ตระหนักว่า ประชาชนทั้งประเทศส่งกำลังใจ มีความหวัง ที่จะได้รับความช่วยเหลือ และเขาได้รับการช่วยเหลือมาก่อนหน้านั้นแล้ว ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ท้อถอย ถ้ามุ่งมั่นอย่างนี้ ตั้งใจจริง เอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเป้ามายที่จะต้องแก้ไขให้หมดสิ้น ท่านทำเพื่อประชาชน ไม่ต้องไปกลัวใคร คนดีทองแท้ ไม่กลัวไฟ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองคัดค้าน ตนเชื่อว่าหากรัฐบาลช่วยเหลือประชาชนได้มาก จะทำให้พรรคการเมืองเสียประโยชน์ ดังนั้นไม่ควรใช้กรณีดังกล่าวมาเล่นการเมือง และหากจะออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะล่าช้า เพราะต้องรอการอนุมัติใช้ช่วงปลายปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน