ไพบูลย์ รับปากส.ว. ขอให้สบายใจได้ ลั่นพร้อมดันมาตรา 144 –185 คงหลักการเดิม มั่นใจรัฐสภาหนุนร่างแก้ไขรธน. 13 ฉบับ หวังร่างพปชร.เป็นจุดเริ่มคลี่คลายความขัดแย้ง

เมื่อเวลา 10.55 น. วันที่ 23 มิ.ย.64 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม อภิปรายว่า ร่างที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง เพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จงได้ ไม่ได้คอยขัดขวางไม่ให้มีการแก้ไขตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา พรรคพลังประชารัฐตั้งใจแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ให้สำเร็จ เพื่อให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ และส.ว.ที่มักถูกกล่าวหาว่าร่วมกันขัดขวางและล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่เป็นความจริง

การพิสูจน์ในรัฐสภาครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐหวังเปลี่ยนเป็นผู้นำในการแก้ไข หากประเด็นที่แก้ไข เพื่อประโยชน์ประชาชน ไม่สร้างความขัดแย้ง และไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ตนมั่นใจว่าสมาชิกรัฐสภา ทั้งซีกส.ส.และส.ว. น่าจะช่วยกันสนับสนุนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ สำเร็จลุล่วงได้

นายไพบูลย์ กล่าวถึงร่างแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐว่า มี 5 ประเด็น 13 มาตรา ประกอบด้วย 1.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนในเรื่องกระบวนการยุติธรรม 2.แก้ไขระบบการเลือกตั้งส.ส.โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และให้มี ส.ส. แบ่งเขต 400 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน 3.แก้ไขการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ โดยมาตรา 144 ที่ส.ว.มีความห่วงใยอยากให้คงหลักเกณฑ์ที่เข้มข้นไว้ตามเดิมนั้น ขอให้ส.ว. สบายใจได้ เพราะตนในฐานะที่เป็นอดีต ส.ว. 2 สมัย ปฏิบัติหน้าที่ส.ว.มา 6 ปี และทำงานด้านการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นมาตลอด เข้าใจข้อห่วงใยของส.ว. จึงยืนยันอีกครั้งว่า ในการพิจารณาวาระที่ 2 ชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) จะผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 144 ให้กลับไปตามหลักการเดิม

นายไพบูลย์ กล่าวว่า 4.แก้ไขอุปสรรคในการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งมาตรา 185 มีปัญหาการเรื่องการตีความมาก ซึ่งการเสนอแก้ไขมาตรา 185 ไม่ใช่อยู่ดีๆจะยกขึ้นมา แต่เมื่อได้รับการทักท้วงจากส.ว. ว่าอาจทำลายหลักการก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการ ตนก็เห็นด้วย และได้รับปากว่าเมื่อสภารับหลักการวาระ 1 แล้ว ในวาระ 2 ตนจะผลักดันเสนอแก้ไขมาตรา 185 ให้คงหลักการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงไว้ตามเดิม แต่ให้ยกเว้นเฉพาะกรณีที่ส.ส. ส.ว. ต้องไปติดต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ว่าอาจจะไม่ถือเป็นการก้าวก่ายการทำหน้าที่ เพื่อให้ผู้แทนได้เข้าไปช่วยเหลือความเดือดร้อนประชาชนได้ ขอให้สบายใจว่าในวาระ 2 ตนจะดำเนินการแก้ไขตามที่ทักท้วงให้เป็นไปตามหลักการเดิม

และ5.การเสนอแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 270 อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐหวังให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน