ยิ่งชีพ ไอลอว์ อัดส.ส. สุดไร้เหตุผล ตีตกร่างยกเลิกคำสั่งคสช. ทั้งที่ไม่มีใครอภิปรายมาก่อน ลั่นปชช.อย่าเสียใจ ใครปัดตก ครั้งหน้าไม่ต้องเลือก ต้องมีความหวัง

วันที่ 15 ธ.ค.2564 นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) แถลงภายหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. ที่เสนอโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,609 คนเป็นผู้เสนอ ว่า วันนี้เป็นอีกวันที่ประชาชนรู้สึกผิดหวัง เสียใจและโกรธ ที่สภาฯ หรือผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายปัดตกในสิ่งที่ประชาชนช่วยกันผลักดัน

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชน ตนยืนยันเสมอว่าสิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ สภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของคณะรัฐประหาร และตั้งแต่ปี 2560 มา แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็เห็นว่าประกาศคำสั่งคสช.ยังเป็นใหญ่

เราอยู่ในยุคที่ทหารสามารถจับกุมประชาชนไปคุมขังในค่ายทหารเมื่อไหร่ก็ได้ อยากจะทำอะไร อยากได้ทรัพยากร อยากใช้ที่ดินตรงไหนทำอะไรก็ออกคำสั่งโดยไร้การตรวจสอบ

สิ่งที่อยากเห็น คือ สภาฯ ที่เป็นตัวแทนของประชาชนตรวจสอบอำนาจเหล่านี้ เราฝันถึงวันที่จะได้เห็นส.ส.ในสภาฯ อภิปรายและหยิบยกปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามประกาศของคสช.ต่างๆ มาพูดคุยถกเถียงกันเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งก็ได้เห็นแล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา และจากการอภิปราย ส.ส.ทุกคนต่างตระหนักดีถึงปัญหาของคำสั่งคสช. และช่วยกันพูดถึงความไม่เป็นธรรม ความไม่ถูกต้อง

แต่ผลการลงมติวันนี้ ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่รับหลักการ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มี ส.ส.คนใดอภิปรายว่าจะไม่รับหลักการ หรืออภิปรายเหตุผลได้ว่าทำไมจึงจะไม่รับหลักการร่างนี้ จากวันแรกจนถึงวันนี้เราไม่เคยได้ยินเหตุผลคัดค้านอะไรที่ประกาศคำสั่งคสช.ที่ออกมาโดยคนๆ เดียวและละเมิดสิทธิของประชาชนยังคงมีอยู่ต่อไป

“ดังนั้นการลงมติวันนี้จึงไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับ และเป็นการประจานของคนที่ลงมติเองว่า ไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับได้ว่าเหตุใดถึงไม่รับหลักการ”

หากประชาชนรู้สึกเศร้า เสียใจบ้าง ผิดหวังบ้าง ขอให้ทราบว่าเรายังมีอำนาจสำคัญในการลงโทษผู้แทนราษฎรที่ลงมติโดยไม่มีเหตุผลรองรับเหล่านี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และขอให้จดจำว่าใครที่ลงมติไม่รับหลักการโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งเราจะไม่เลือกคนเหล่านั้นกลับเข้ามาในสภาอีก

อย่างไรก็ตามมรดกรัฐประหารที่คสช.ได้ทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรัฐธรรมนูญ ในคำสั่งคสช. ในกฎหมายอีกหลายฉบับ ยังคงจำเป็นที่จะถูกตรวจสอบ ถูกรื้อถอน ไม่ว่าจะโดยอำนาจทางตรงของประชาชนหรืออำนาจผ่านการเลือกตั้งให้ส.ส.มาทำหน้าที่นี้ จากนี้ยังมีก้าวต่อไปและกิจกรรมอีกมาก

“เราต้องรวมพลังกันอีกหลายครั้ง ขอให้ประชาชนมีความหวัง ตั้งมั่นที่จะทวงคืนระบอบประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจตามปกติกลับมา”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน