ชัยวุฒิ ย้ำ กฎหมายPDPA คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เจ้าตัว บ่น รำคาญ บอกผมก็โดน โทรขายประกัน วันนึง 4-5 รอบ ชี้ ต่อไปทำไม่ได้แล้ว โทษหนัก

เมื่อเวลา 08.05 น. วันที่ 25 มิ.ย. 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” เรื่อง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านทาง FM92.5 MHz และเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย RADIO THAILAND ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ออกมาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ

เพราะข้อมูลต่างๆ ในปัจจุบันของทุกคน ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ ทำบัตรเครดิต ทำธุรกิจต่างๆ เปิดบัญชีธนาคาร ที่เราให้ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รสนิยมพฤติกรรมความชอบ ความเชื่อ ถือเป็นข้อมูลส่วนตัว จึงต้องออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลเหล่านี้ ไม่ให้องค์กร ร้านค้าธุรกิจต่างๆ นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในทางมิชอบ ทำให้เราเสียหาย เดือดร้อน รำคาญ กฎหมายจึงออกมาคุ้มครองข้อมูลของประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล ไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดความเสียหาย

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ สร้างความเชื่อมั่นว่าหากเราไปทำธุรกรรม ธุรกิจกับใคร แล้วต้องให้ข้อมูล ก็ต้องมั่นใจว่าจะต้องได้รับการเก็บข้อมูลเป็นอย่างดี ไม่รั่วไหล ซึ่งความเชื่อมั่นจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำธุรกิจกัน เศรษฐกิจก็จะเติบโต และทุกวันนี้กฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายสากลที่ทุกประเทศใช้ติดต่อสื่อสารกัน สร้างการค้าการลงทุนร่วมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเติบโต เพราะวันนี้ข้อมูลอยู่ในโลกออนไลน์ ระบบคอมพิวเตอร์เยอะมาก หากไม่มีกฎหมายคุ้มครองเราก็ทำงานกันยาก

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องรูปถ่ายจะขัดกฎหมายหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะโดยหลักการก็ต้องขอความยินยอมก่อน ถ้ารูปออกไปแล้วเจ้าของรูปเสียหายหรือเขาไม่เห็นด้วยก็อาจจะถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมาย PDPA และกฎหมายหมิ่นประมาท ยิ่งถ้าเป็นดาราก็จะโดนกฎหมายลิขสิทธิ์ ดังนั้น โดยหลักการของการนำรูปคนอื่นไปโพสต์ก็ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการถ่ายรูปแล้วติดโดยไม่ตั้งใจ และไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า เป็นการโพสต์ดูกันในครอบครัวก็ไม่ขัดกฎหมาย PDPA

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า เพราะกฎหมาย PDPA เว้นอยู่ 3 เรื่อง คือ ใช้เป็นเรื่องส่วนตัว ภายในครอบครัว แชร์ข้อมูลกันเอง , งานสื่อสารมวลชน การนำเสนอข่าว เพราะถือว่านักข่าวทำตามจรรยาบรรณตามมาตรฐานวิชาชีพอยู่แล้ว , งานความมั่นคง การสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี งานที่มีอำนาจรองรับให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้านความมั่นคง การรักษาความปลอดภัยในระบบต่างๆ ที่จะต้องหาข้อมูลคนร้าย ถือเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลมาก เพราะโดยหลักการ ไม่มีเจตนานำข้อมูลส่วนบุคคลหรือรูปภาพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ไปเปิดเผย ก็ไม่มีความผิดอยู่แล้ว

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ประกอบการที่มีข้อมูลของลูกค้าหรือผู้มาติดต่อ หรือบริษัทที่มีข้อมูลของผู้มาสมัครงาน หรือแม้แต่พรรคการเมืองเองก็จะมีข้อมูลของคนที่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเก็บให้ดี ไม่ให้รั่วไหล และคนที่จะเปิดดูข้อมูลได้ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน หากข้อมูลรั่วไหลออกไปจะเป็นความผิด ถูกดำเนินคดีถูกฟ้องร้องได้ ดังนั้นจะต้องมีระบบป้องกันให้ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จะต้องจัดทำระบบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะออกระเบียบและประกาศไว้

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า องค์กรขนาดใหญ่ก็จะยุ่งยากขึ้นมาหน่อย เช่น สถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทประกันภัย ร้านค้าออนไลน์รายใหญ่ จะต้องมีระบบที่มีมาตรฐานตามกฎหมาย PDPA มากขึ้น แต่ผู้ประกอบการรายย่อย SME คงไม่ต้องทำ เพราะไม่อยากให้เป็นภาระต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการมากเกินไป เอาแต่พอดี เพื่อให้บริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลก็เพียงพอแล้ว

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีกฎหมายลูก PDPA ออกมา โดยมีหลักการว่าอยากให้ SME เรียนรู้ตื่นตัวเรื่องกฎหมาย เพื่อทำระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหล ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันระดับหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลของประชาชนไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยที่เขาไม่ยินยอมและทำให้เสียหาย แต่มีการยกเว้นระบบบางอย่าง เพราะต้องลงทุน ใช้เงิน เป็นภาระ จึงจะมีการยกเว้น ทำเพียงมาตรการเก็บข้อมูลไม่ให้รั่วไหล อย่าเอาข้อมูลไปขาย ไปใช้ในทางมิชอบ

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับโทษหากเกิดความเสียหายจากข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล เริ่มจากไกล่เกลี่ย ตักเตือน ให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่ถ้ายังไม่ดำเนินการหยุดก็จะมีโทษปรับทางปกครอง แต่หากพบว่าเป็นการจงใจนำข้อมูลไปขาย ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน ก็จะมีโทษตามกฎหมายอาญา จำคุกหนึ่งปีและโทษปรับทางปกครองหลายล้านบาท

วันนี้เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ สิ่งที่เราเห็นได้ชัดสุดตอนนี้ คือ คนที่โทรมาขายของพวกเราจะลดลง เช่น ขายประกัน เพราะถ้าเขาโทรมาแล้วเรารับสาย เราสามารถถามกลับไปได้ว่าเอาเบอร์โทรศัพท์เรามาจากไหน เพราะถ้าเขาเอาข้อมูลมาใช้โทรหาโดยที่เราไม่ยินยอม เขาก็มีความผิด ให้จดมาเลยว่าใครโทรมา บริษัทไหน เอาข้อมูลมาจากใคร แล้วเอามาร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีความผิดทางกฎหมายแน่นอน

อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะคนรำคาญกันเยอะ ผมเองก็รำคาญ บางวันนั่งประชุมอยู่ โทรมา 4-5 รอบ จะขายประกัน ซึ่งเราก็รู้ว่าเอาข้อมูลมาจากใคร เพราะบอกว่าถ้าจะซื้อประกันใช้บัตรเครดิตที่มีได้ อย่างนี้เราก็รู้แล้ว แต่จากนี้ไปทำไม่ได้แล้วนะ บอกไว้ก่อนว่าเป็นความผิด” นายชัยวุฒิ กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ผู้ประกอบการก็พยายามวางระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหล มีการเก็บข้อมูลให้ดี ขณะเดียวกันสร้างความรับรู้ในสังคม เพราะคนไทยเกี่ยวข้องทุกคนในเรื่องข้อมูล ระบบก็จะไปได้เอง ไม่เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป ไม่ต้องกังวล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน