จากกรณีที่วันนี้ ( 1 ก.พ.) ที่กระทรวงกลาโหม มีตัวแทนชาวบ้านคลองลาดพร้าว กลุ่มชาวบ้านตลิ่งชัน กลุ่มพ่อค้า อ.อรัญประเทศ.จสระแก้ว ชาวบ้าน จ.สมุทรปราการ ราว 40 คน เดินทางมาให้กำลังใจพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ภายหลังกรณีที่กล่าวเปิดใจว่า หากประชาชนไม่ต้องการตนเองก็พร้อมจะออกจากตำแหน่งโดยมี พล.อ.รุ่งโรจน์ จำรัสโรมรัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนพล.อ.ประวิตรมา ต้อนรับ (อ่านข่าว : ม็อบเชียร์มาแล้ว ! “กลาโหม” เปิดรับมวลชน แห่ให้กำลังใจ “บิ๊กป้อม” สุดชื่นมื่น)

นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘ข่าวสด’ ถึงกรณีนี้ว่า การที่ประชาชนที่ไปแสดงออกส่งความเห็นของพวกเขาให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งเป็น การแสดงความคิดเห็นตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 4,25,34,44 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ มองว่าการกระทำของประชาชนกลุ่มดังกล่าวเป็นความผิดต่อกฎหมายชุมนุมสาธารณะ มาตรา 7 วรรคแรก หากเปรียบเทียบกับประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไปให้กำลังใจ รมต.ว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี ก็จะถือว่าเป็นความผิดเช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างในเหตุแห่งพฤติการณ์ เพราะ ตามนิยาม คำว่า “การชุมนุมสาธารณะ คือ การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่”

นายวิญญัติ กล่าวอีกว่า “ประชาชนจะเรียกร้อง หรือสนับสนุน ก็เป็นเหตุมากจาก การใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกของประชาชน เรื่องนี้ฝ่ายรัฐในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจ ต้องมีความเข้าใจทั้งความรู้สึกประชาชนและเข้าใจหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างดี ที่สำคัญต้องยึดหลักนิติธรรมนำทางการใช้ดุลพินิจและใช้อำนาจที่มี มิใช่จะสนองความต้องการของผู้มีอำนาจหรือใครก็ตามอย่างที่กำลังทำให้สาธารณชนเข้าใจว่า เลือกปฏิบัติหรือไม่”

“หากจะอ้างว่าเป็นการจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง ก็ต้องมีการพิจารณาถึงกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมด้วย แต่ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่าได้ทำกัน การจะอ้างภายหลังว่าประชาชนกระทำผิด มาตรา 7 เพื่อนำมาเป็นเหตุตั้งข้อหาและดำเนินคดี ย่อมอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ ทั้งยังอาจจะทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่าเป็นการสร้างความแตกแยกเกิดขึ้นในประเทศจากการใช้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจจะขัดและฝ่าฝืนนโยบายของ คสช. เสียเอง ต้องระวังด้วย เพราะมิใช่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจได้อย่างพลการ.” นายวิญญัติ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน