มนพร ตอก ‘ศิริกัญญา’ อ่านรายงาน แลนด์บริดจ์ ผิดฉบับ บอก ถ้าใช้รายงานฉบับเดิม จะตั้งกมธ.ใหม่ทำไม ลั่นรัฐบาลไม่ใช่แค่กล้าสบตาประชาชน แต่เปิดหูเปิดตารับฟัง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ม.ค.2567 ที่ท่าเรืออเนกประสงค์ จ.ระนอง นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนรายงานการศึกษา แลนด์บริดจ์ ว่า ทางกมธ.แลนด์บริดจ์ได้ประชุมกัน 10 ครั้ง มีหน่วยงานต่างๆเข้าชี้แจง 50 ครั้ง การขอให้ทบทวนรายงานถือเป็นความเห็นของสมาชิกส่วนหนึ่ง ซึ่งในกมธ.มีคนคัดค้านเพียงแค่ 2 เสียง

หลังจากนี้จะส่งร่างรายงานผลการศึกษาเข้าไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา สมาชิกแต่ละคนสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างกว้างขวาง สามารถเพิ่มประเด็นและตั้งข้อสังเกตต่างๆ เพิ่มเข้าไปได้ หากที่ประชุมสภาฯให้ความเห็นชอบ จะส่งไปให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อ

ส่วนที่ น.ส.ศิริกัญญา ตั้งข้อสังเกตว่ารายงานดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่รัฐบาลจะดำเนินการ เช่น เรื่องท่อส่งน้ำมันนั้น ประเด็นเรื่องท่อน้ำมันอยู่ในข้อพิจารณาของกมธ. น.ส.ศิริกัญญา อาจไปดูความเห็นเดิมที่ไม่ใช่ข้อมูลปัจจุบัน หากเราจะใช้ความเห็นเดิมรัฐบาลชุดที่แล้วคงไม่ต้องตั้ง กมธ.แลนด์บริดจ์ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การที่เราตั้งกมธ. เพราะต้องการความคิดเห็นในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นเราคงหยิบร่างเดิมมาพิจารณา วันนี้โลกเปลี่ยนไป ความต้องการประชาชนเปลี่ยนไป ยืนยันรัฐบาลรับทราบทั้งความเห็นด้วยและความเห็นต่าง โดยเฉพาะความเห็นต่าง เราจะรับฟังให้มากที่สุด ประชาชนต้องการอะไรหรือสิ่งที่เราจะต้องชดเชยเขา เช่น ที่อยู่อาศัย ประมงพื้นบ้าน ระบบนิเวศน์ และตนเชื่อมั่นว่าบริษัทที่เขาจะมาลงทุนต้องมีทีมศึกษา ไม่ใช้เฉพาะรายงานของรัฐบาลไทยอย่างเดียว

นางมนพร กล่าวว่า ยืนยันว่าเรารับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างแน่นอน โดยการมาประชุม ครม.สัญจร จ.ระนอง ครั้งนี้ เราจะมาเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และย้ำว่าเรากล้าสบตาประชาชน จะเปิดหูเปิดตาในการรับฟังทุกความเห็น ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ม.ค. ถ้ามีโอกาสตนจะเชิญตัวแทนผู้เห็นต่างเข้าพบนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลมีทางออกให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ที่ออกมาคัดค้านหรือไม่ นางมนพร กล่าวว่า เราต้องถามความต้องการของชาวประมงก่อนว่าเขาต้องการอะไร และแน่นอนว่า เมื่อมีโครงการใหญ่ๆ เข้ามาจะต้องสูญเสียบางอาชีพไป เราต้องหาสิ่งทดแทนที่ดีกว่ามาให้ประชาชน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงย่อมต้องนำสิ่งที่ดีกว่าเข้ามาเสมอ ไม่เช่นนั้นโลกคงไม่มาไกลถึงขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมาของตน ไม่ได้พบเฉพาะคนที่เห็นด้วย แต่ไปรับฟังคนที่เห็นต่าง

เมื่อถามว่ามองว่าประเด็น แลนด์บริดจ์ ถูกนำมาเป็นประเด็นการเมืองหรือไม่ นางมนพร กล่าวว่า ขณะที่ถูกโจมตีลากมาเป็นประเด็นการเมือง ถือเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาล ในการตอบข้อมูลเชิงวิชาการ และความต้องการของประชาชน เปิดกันให้เห็นว่า ถ้าโครงการนี้มาประชาชนจะสูญเสียอะไร และประชาชนและประเทศชาติจะได้อะไร ถือเป็นเวทีที่ให้รัฐบาลชี้แจง และได้สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมาได้มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน