สภาพัฒน์ เผย ‘อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ -ส่งออกไทย’ ปี 2566 ดิ่งเหลือ 1.9% หลังส่งออกติดลบ 1.7% ส่วนปี 2567 คาด จีดีพี เหลือแค่ 2.2-3.2%
วันที่ 19 ก.พ.2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2566 เติบโต 1.7% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.5%
ขณะที่ทั้งปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9% ชะลอลงจากปี 2565 และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.1% ตามการส่งออกภาคสินค้า รวมทั้งการลดลงของการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนของรัฐบาล
สำหรับการส่งออกในไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 4.6% แต่ทั้งปี 2566 ติดลบ 1.7% การนำเข้าไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 6.1% แต่ทั้งปีติดลบ 3.1% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในปี 2566 ขยายตัว 7.1% ด้านการลงทุนเอกชนขยายตัว 3.2%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 สศช.ปรับประมาณการลงมาอยู่ที่ 2.2-3.2% จากเดิมคาด 2.7-3.7% ด้านการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 2.9% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8%
ด้านการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 4.7% ด้านเงินเฟ้อคาดอยู่ที่ 0.9-1.9% จากประมาณการเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 1.7-2.7% โดยการประมาณการจีดีพีในครั้งนี้ ยังไม่รวมโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาล
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ การส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของการค้าโลก ที่การขยายตัวดีของการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของมูลค่าและปริมาณการนำเข้า โดยเฉพาะวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน
เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ โดยมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ
ด้านปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องติดตาม คือ การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยเป็นผลจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณในปี 2567 รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป
ขณะที่สัดส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งติดตามผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร เป็นต้น
“หากดูเศรษฐกิจไทยปี 66 จะเห็นว่าเราเติบโตที่ 1.9% แม้ว่าการบริโภคยังคงขยายตัวได้ดี แต่หนี้ครัวเรือน ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งอยู่ระดับสูง”เลขาฯสภาพัฒน์ กล่าว
ช่วงที่ผ่านมา จะมีตัวสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษที่กลายเป็นหนี้เสียระดับหนึ่ง ส่วนนี้ภาครัฐได้ใช้มาตรการเกือบทั้งหมดแล้ว ทั้งเรื่องการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว มาตรการช่วยให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศ ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา และเร่งการจัดทำงบประมาณปี 2567 และเร่งรัดการใช้จ่ายงบประจำ และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ
ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาในช่วงถัดไปอย่างจริงจัง มาตรการทางด้านการเงิน น่าจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ ในการช่วยลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยต่างๆ ที่จะต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ในเรื่องมาตรการดอกเบี้ย รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายสินเชื่อบัตรเครดิต ในเรื่องการชำระขั้นต่ำลดลงมาเหลือ 5% ซึ่งมาตรการนี้สิ้นสุดลงแล้ว และม.ค.เป็นต้นมาขยับขึ้นเป็น 8%