วุฒิสภา ทิ้งทวน ถกรายงานกมธ.การเมือง ชง กกต.คุมหาเสียงผ่านโซเชียล ใช้เงินมากกว่าติดป้ายหาเสียง เขื่อเลือกตั้งสว.ชุดใหม่ จะใช้ไอโอกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม
เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานการพัฒนาพรรคการเมืองและการสร้างพลเมืองในยุคดิจิทัล:ปัญหาและแนวทางแก้ไข เสนอโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา
รายงานมีสาระสำคัญ ว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่ศึกษาสรุปปัญหาและอุปสรรคในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการพัฒนาการเมืองและการสร้างพลเมืองในยุคดิจิทัล 5 ประเด็น 1.ความเป็นเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ที่อยู่ในต่างประเทศ ทำให้ประสานงานไม่ได้
2.ความรู้ความเข้าใจของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน ขาดความชำนาญและความเท่าทัน 3.สมรรถนะและความพร้อมของพรรคการเมืองไทย พรรคการเมืองที่มีความพร้อมได้เปรียบการเข้าถึงประชาชน
4.ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายที่ได้อ้างอิงถึง ซึ่งบุคลากรจะต้องมีการพัฒนา และ 5.ความไม่ทันสมัยของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับมีข้อเสนอให้ กกต. ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เท่าทันกับการเลือกตั้งและหาเสียงยุคใหม่
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานกมธ. อภิปรายว่า กกต.ในฐานะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องตื่นตัว เป็น กกต. ที่ทันสมัย เป็น กกต.ดิจิทัลรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ต้องสร้างกระบวนการเพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผ่านมา กกต.มีกฎหมายที่ควบคุมการใช้เงิน การติดป้ายหาเสียง แต่ระบบโซเชียลฯไม่มีการควบคุม ทั้งที่คนที่ใช้โซเชียลฯใช้เงินมากกว่าการติดป้ายหาเสียง เมื่อไม่ควบคุม จึงทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ
ขณะที่แต่ละพรรค งต้องตื่นตัว และนำคนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกพรรค มีคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่งที่อ้างว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่เท่านั้น ดังนั้น ต้องมีวิธีการ กกต.ต้องควบคุมและจัดการเพื่อไม่ให้เลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำให้เกิดการพัฒนาการเลือกตั้ง และมีการเลือกที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่ไม่มีใครรู้จัก แต่ใช้เอไอ และไอโอ ทำให้เป็นคนเก่ง คนดี ทั้งที่คนที่ทำคุณงามความดียาวนานไม่ได้รับเลือกตั้ง
“ผมขอฝากให้พิจารณาด้วยว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำร้ายสังคม ทำลายบ้านเมือง สร้างเหตุการณ์ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงาม ฝากไปยังรัฐบาล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลผ่านดิจิทัลที่บิดเบือน จาบจ้วงสถาบันที่มีจำนวนมาก” นายเสรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สว. ต่างแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และชี้เฉพาะไปยังการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เอไอ และไอโอ เพื่อประโยชน์ในการเอาชนะเลือกตั้ง
นายกษิดิศ อาชวคุณ สว. อภิปรายโดยคาดหวังให้นักการเมืองที่มีแนวคิดรักชาติ รักบ้านเมือง เข้ามาบริหารประเทศ พร้อมฝากไปยังนักการเมืองให้รู้จักพอ คิดถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก สำหรับผู้ร่ำรวย อาชีพใดก็ตาม เมื่อตายแล้ว บาทเดียวเอาไปไม่ได้
ขณะที่ นายอนุพร อรุณรัตน์ สว. อภิปรายสนับสนุนรายงาน พร้อมระบุว่าจากการติดตามการเลือกตั้งต่างประเทศและประเทศไทยเชื่อว่ามีการใช้ไอโอ และเอไอในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น โดยใช้เป็นฐานวางแผนหาเสียง ซื้อเสียง กลั่นแกล้งคู่แข่ง และจะปรากฎอย่างมากในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งกระบวนการตัดต่อภาพ คลิปและเสียง และทำลายความน่าเชื่อถือของผู้สมัคร สว. ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม รวมถึงผู้มีสิทธิลงคะแนน
เชื่อว่าจะใช้ไอโอ คาดการณ์เพื่อซื้อเสียง ครอบงำ เพื่อหวังเอาชนะเลือกตั้ง กระจายเงิน สอดส่องความเคลื่อนไหวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตนเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยต่อไป นอกจากนั้นยังมีประเด็นการใช้บัญชีปลอมเพื่อปั่นกระแส บิดเบือน การรับรู้ของประชาชนด้วย
“เลือกตั้งสว.จะมีขึ้นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เชื่อว่าจะมีการสร้างข่าวลวง เพื่อทำลายคู่แข่ง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ควรพิจารณารายงานของ กมธ. เพื่อประโยชน์ในการเลือกกันเองของสว.ที่จะเกิดขึ้น” นายอนุพร อภิปราย
ด้านว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สว. อภิปรายว่าในการเลือกสว.ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะใช้รูปแบบของการเลือกกันเองและเลือกไขว้ ต้องมีมาตรการป้องกันที่จะเกิดขึ้น เช่น การโทรศัพท์ขอคะแนน รวมถึงการใช้ไอโอ ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นได้เห็นแล้ว ดังนั้น ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมนัดนี้ถือเป็นนัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุมสภา และสว.ชุดนี้จะหมดวาระในวันที่ 11 พ.ค.นี้