กมธ. ลุยสอบ กองทัพ สร้างค่ายทหารผิดจุด เลี่ยงพื้นที่เขากระโดง ส่อโยงบ้านใหญ่บุรีรัมย์ “วิโรจน์” เหน็บ อิทธิพลล้น ขนาดค่ายทหารยังยอมย้ายหนี
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า การประชุมกมธ.ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) ได้เชิญผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ว่า รฟท.), ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ , อธิบดีกรมที่ดิน และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 หรือค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาชี้แจงต่อกมธ.
เนื่องจากมีข้อสงสัยและได้รับการร้องเรียนว่า ในการอนุญาตก่อสร้างค่ายมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ มทบ.26 นั้น อาจมีการสร้างผิดที่จากเดิมที่กองทัพเคยขออนุญาตไว้เมื่อปี 2521 มีการขออนุญาตจากจ.บุรีรัมย์ ผู้ที่ขออนุญาต คือ จังหวัดทหารบกสุรินทร์ (แยกบุรีรัมย์) ที่ขอสร้างค่ายทหารใน จ.บุรีรัมย์ ชื่อกองพันทหารราบเบา
ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ขณะนั้นให้สร้างตามหนังสือสำคัญที่หลวง นสล.4130 และมีการก่อสร้างจนกลายเป็น ร.23 พัน.4 คือ ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในปัจจุบัน
เมื่อไปดูที่ตั้งค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อเทียบกับหนังสืออนุญาตของผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ขณะนั้น มีข้อสงสัยว่า มีการสร้างค่ายทหารผิดที่ และที่ที่ควรจะสร้างปรากฏว่าเป็นที่ข้อพิพาทเขากระโดง เพราะมีบุคคลคนหนึ่งอ้างว่า ซื้อที่มาจากตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง แล้วไปฟ้องร้องต่อการรถไฟ
ปรากฏว่าการรถไฟก็ฟ้องแย้ง จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ตรงนั้นเป็นที่รถไฟจริง และที่แปลงนั้นควรจะเป็นที่ตั้งค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในปัจจุบัน แต่เหตุใดทำไมค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกถึงไปอยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ 2 กิโลเมตร
“อยากถามว่า หมุดหมายของใบอนุญาตอยู่ตรงไหนกันแน่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ข้อสงสัยว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ทรงอิทธิพลขนาดว่า ค่ายทหารยังยอมย้ายค่ายหนีจริงหรือไม่ ดังนั้น รายละเอียดทั้งหมดเราจะสอบกันในวันที่ 28 พ.ย.” นายวิโรจน์ กล่าว
ด้าน นายต่อพงษ์ จีนใจน้ำ อดีตผู้สมัคร สส.บุรีรัมย์ พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาประจำกมธ. กล่าวว่า พบข้อสงสัยต่อกรณีที่กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 หรือ ร.23 พัน.4 มทบ.26 ในขณะนั้น ได้มีการขออนุญาต จ.บุรีรัมย์ ในการสร้างค่ายทหารกองพันทหารราบเบา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2521
ซึ่งผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ได้อนุญาตให้มีการสร้างเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2521 จนเป็น ร.23 พัน.4 ในปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาที่ตั้งของค่ายในปัจจุบัน และเปรียบเทียบกับหนังสืออนุญาตการก่อสร้างที่มีการระบุแผนที่ชัดเจน มีหลักเขตชัดเจนว่าทิศเหนือจรดที่ของการรถไฟ แต่ที่ปัจจุบันที่มีการก่อสร้างนั้นเป็นที่ทิศเหนือจรดที่ของเอกชน จึงเชื่อว่าที่ที่กองทัพขอใช้ตั้งแต่แรกผิดที่
จนปี 2561 มีการฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองได้เรียกเอกสารต่างๆ จึงปรากฏหลักฐานว่า มีคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับหนึ่ง ระหว่างผู้ซื้อที่ดินฟ้องการรถไฟ โดยผู้ซื้อที่ดินแจ้งว่าได้ซื้อที่ดินมาจากนายชัย ชิดชอบ โดยนายชัย แจ้งว่า ซื้อมาจากราษฎร จนศาลฯ ได้พิพากษาให้เป็นที่ดินของ รฟท. และค่ายทหารฯ ดังกล่าว
“ทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดกองทัพจึงไม่ก่อสร้างค่ายฯ ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่แรก เหตุเพราะมีการครอบครองที่ดินทางเหนือติดกับเขากระโดงโดยตระกูลใหญ่ตระกูลนี้หรือไม่ ทางกมธ.จะได้ตรวจสอบว่า เหตุใดกองทัพถึงไม่ยอมก่อสร้างค่ายฯ บนที่ดินที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่แรก และที่ไปสร้างแปลงใหม่ได้รับอนุญาตจากที่ใด” นายต่อพงษ์ กล่าว
ที่ปรึกษาประจำกมธ. กล่าวด้วยว่า ในจ.บุรีรัมย์ มักมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นอีกเยอะ เช่น มีการเปลี่ยนหลักกิโลเมตรของจังหวัดมากกว่า 3 ครั้ง มีการขยับหลักหมุด หลักกิโลเมตรของจังหวัดมากกว่า 3 ครั้ง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใดหรือไม่ ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) กมธ.ก็จะสอบเรื่องนี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป