“ปชน.” ซัด เกมขวางแก้รัฐธรรมนูญ ฉะ พรรคร่วมรัฐบาล ไม่แสดงตน ทำองค์ประชุมล่ม สะท้อนรอยร้าว บี้ “นายกฯ” โชว์ภาวะผู้นำ คุมเสียงให้ได้
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2568 ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชน แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภาล่ม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ในวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- สภาล่ม! ถกแก้รัฐธรรมนูญสะดุด สส.-สว.วอล์กเอาต์ องค์ประชุมไม่ครบ นัดใหม่พรุ่งนี้
- อึ้ง! เพื่อไทย ร่วมลงชื่อหนุนญัตติ สว. ส่งศาลรธน. แจงดีกว่าฝืนโหวต จนร่างแก้รธน.ตกไป
โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนอยากยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจเต็มในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า เราสามารถเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ได้ในทันที
อีกทั้งผลของการลงมติก็ออกมาแล้วว่า ให้รัฐสภาเดินหน้าต่อในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชนเสนอเข้ามา แต่ปรากฏว่าขณะที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 มีการเสนอให้นับองค์ประชุม จากสายตาตนเชื่อว่า มีเพื่อนสมาชิกอยู่ในห้องประชุมจำนวนมากกว่าที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะสั่งปิดการประชุม
สะท้อนให้เห็นว่า มีเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลไม่กดแสดงตน ไม่เป็นองค์ประชุม ทั้งที่นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้พูดไว้ในห้องประชุมว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวันนี้
“เป็นสิ่งสำคัญที่นายกฯ จะต้องแสดงให้เห็นถึงการควบคุมเสียงของฝั่งรัฐบาล ผมเชื่อว่าถ้านายกฯ เป็นผู้แทนราษฎรอยู่ในห้องประชุมด้วย และสามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้ วันนี้เราจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนอยากให้ทุกคนช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ทางฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคเพื่อไทย และนายกฯ ช่วยกำกับดูแลเสียงของฝั่งรัฐบาลให้มาเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ ให้เป็นองค์ประชุมอย่างพร้อมเพรียง
เพราะอย่างน้อยๆ ตนคิดว่าการเห็นด้วยหรือการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 อย่างไร ก็ควรจะต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาก่อน หากมีข้อกังวลกับการลงมติจริง ภายหลังการเปิดอภิปรายเสร็จแล้ว ค่อยมาตัดสินใจก่อนที่จะลงมติอีกครั้งก็ยังได้ ไม่ควรที่จะเซ็นเซอร์อำนาจตัวเองถึงขนาดที่ว่า ไม่กล้าให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภาอภิปรายในรัฐสภาแห่งนี้
เมื่อถามถึงความจริงใจของพรรคเพื่อไทยในการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากมี สส.ของพรรคเพื่อไทยหลายคน ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนค่อนข้างสับสนว่า ในเมื่อมีร่างที่ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยเสนอมาด้วย ทำไมถึงไม่มีการแสดงตนหรือไม่มีการแสดงความชัดเจนว่า อยากจะเดินหน้าต่อในวันนี้
“ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตกลงกันไม่ได้หรือมีรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น นายกฯ จะต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำ และการควบคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยและนายกฯ จะแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมเสียงรัฐบาลได้จริง” นายณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่าถ้าเดินหน้าพิจารณาต่อ พรรคประชาชนมั่นใจได้แค่ไหนว่า จะได้เสียงเห็นชอบจาก สส.ฝั่งรัฐบาล และ สว. นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ด่านแรก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่รับวินิจฉัยในเรื่องของข้อสงสัย สำหรับพรรคประชาชนเราคิดว่าไม่จำเป็นต้องส่งศาล สามารถเดินหน้าต่อได้เลย
ด่านที่ 2 เรื่องการแก้ไขมาตรา 256 ร่างของพรรคเพื่อไทยและร่างของพรรคประชาชนมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งในหลายๆ เรื่อง ตนเชื่อว่ายังสามารถไปพูดคุยกันได้ในวาระที่ 2 และเรื่องที่มีเพื่อนสมาชิกรัฐสภาบางส่วนไม่เห็นด้วยว่า จะให้มีการแตะหมวด 1 และ 2 หรือไม่นั้น ตนเชื่อว่ายังไม่เป็นสาระสำคัญในช่วงการลงมติของวาระที่ 1
ฉะนั้น ถ้าดูโดยหลักการ ในวาระที่ 1 เราสามารถเดินหน้ารับหลักการได้ ไปถึงขั้นตอนในวาระที่ 2 และ 3 และหากถามถึงความเห็นของสมาชิกแต่ละฝ่ายว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการเดินหน้าแก้ไขนั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะลงมติ แต่อย่างน้อยๆ ควรเปิดให้มีการอภิปรายก่อน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน
“ตอนนี้เราตกอยู่ในภาวะที่ผู้มีอำนาจในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ เรากำลังตกอยู่ในอุตสาหกรรมของความที่รัฐขาดความรับผิดรับชอบ ไม่กล้าใช้อำนาจตัวเอง และไม่กล้าที่จะรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจตัวเองเช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการในตอนนี้ คือผู้ที่มีอำนาจกล้าที่จะตัดสินใจ ใช้อำนาจตัวเอง และพร้อมที่จะรับผิดชอบ” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับท่าทีของ สว.วันนี้ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่สุดท้ายหากถามว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือว่าเสียงจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็จะต้องมีการลงมติก่อน แต่กระบวนการที่ผ่านมา มีเกมในสภาเกิดขึ้น มีกระบวนการในการพยายามขัดขวาง เพื่อจะไม่ให้พวกเราเดินหน้าไปสู่การลงมติได้