การสื่อสารในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งมีส่วนทำให้รูปแบบของการเสพสื่อของคนยุคใหม่ต่างออกไปจากเดิม โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตสื่อนั้นอยู่รอดได้ คือ “คอนเทนต์” ที่ไม่ใช่เพียงแค่เน้นปริมาณ แต่ควรนำเสนอคอนเทนต์คุณภาพเป็นหลัก

เรียกได้ว่ามีการแข่งขันกันแบบวินาทีต่อวินาที โดยการผลิตคอนเทนต์นอกจากจะต้องเป็น “ที่จดจำ” และ “ที่น่าติดตาม” เพื่อ “แย่งคนดู” ยังจะต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย

ปัจจุบัน “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” เป็นอีกกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงาน “ผลิตสื่อที่ดี” เป็นสื่อกลางเชื่อมนักวิชาการและนักวิชาชีพให้สามารถสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์เนื้อหาของสื่อ ที่จะนำไปใช้ในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพและเป็นพลังบวกให้กับสังคม

ล่าสุด ได้ร่วมกับ “สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์” พัฒนาผู้ผลิตสื่อทั่วไทยให้เป็นนักเล่าเรื่อง และเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์รุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์คุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตละครโทรทัศน์ในยุคปัจจุบัน ผ่านโครงการ เล่าเรื่องเป็นละคร

โครงการดังกล่าว ได้เดินสายจัดอบรมเขียนบทเชิงปฏิบัติการ “เล่าเรื่องเป็นละคร” ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ครั้งที่ 1) และ ภาคเหนือ (ครั้งที่ 2) ภาคละ 30 คน ผ่านการพิจารณาผลงานอย่างเข้มข้นจนได้ต้นแบบนักเขียนบทสายพันธุ์ใหม่ ภาคละ 5 คน เข้ารับประกาศนียบัตรและโล่รางวัลเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 16 อาคารซีพีออลล์ อคาเดมี่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พร้อมกันนี้ ยังได้จัดให้มีเสวนาในหัวข้อ “Media Change for Chance สื่อยุคใหม่ สร้างสรรค์ Content อย่างไรให้รอด เพื่อจุดประกายให้คนผลิตสื่อทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเรื่องนี้ และสร้างนวัตกรรมสื่อให้เกิดคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ จะต่อยอดจากการสร้างเรื่องเล่าให้ก้าวสู่การสร้างประสบการณ์จากผู้ปฏิบัติจริงในวิชาชีพ โดยหวังจะเห็นกระบวนการสร้างนวัตกรรมสื่อที่เกิดคอนเทนต์คุณภาพ ผ่านนักคิด หรือผู้ผลิตสื่อรุ่นใหม่ สร้างสรรค์สื่อที่มีชั้นเชิงและความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสาร

ทำอย่างไรให้ละครเป็นสื่อบันเทิงที่สร้างสรรค์ ให้สาระ และสร้างแรงบันดาลใจ จึงเป็นที่มาของโครงการเล่าเรื่องเป็นละคร และเป็นความตั้งใจของกองทุนฯ ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปได้สร้างสรรค์เนื้อหา ที่เป็นเรื่องเล่าของคนในพื้นที่ ได้แสดงอัตลักษณ์กันอย่างเต็มที่ สามารถที่จะนำวิธีคิด ขั้นตอนในการเขียนบทที่ได้จากการอบรม ไปปรับใช้ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และสามารถนำไปสื่อสารในทุกแฟลตฟอร์มได้

ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าวเสริมว่า นอกจากจุดประกายให้เกิดนักเขียนบทละครหน้าใหม่ ทางสมาคมฯ ยังได้หลักสูตรสำหรับอบรมผู้เขียนบทละคร วิธีการเล่าเรื่องเป็นละคร ขณะเดียวกันยังได้บทละครดีๆ จากผู้เข้าร่วมโครงการ ที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับนำไปพัฒนาต่อยอด ซึ่งบางบทละครที่ได้รางวัลก็มีศักยภาพที่จะไปต่อได้

เช่นเดียวกับ ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล ที่ปรึกษาโครงการ “เล่าเรื่องเป็นละคร ที่มองว่า สิ่งที่สำคัญที่จะทำละครให้ดี คือ คอนเทนต์ ที่แปลกใหม่และไม่ซ้ำใคร และเรื่องเล่าที่ทรงพลังที่สุดคือเรื่องเล่าที่มาจากมนุษย์ จึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่หาผู้คนที่ไม่ใช่สังคมเมือง เพื่อรับฟังมุมมองที่ไม่เหมือนสังคมเมือง “คุณมีเรื่อง เราไปสอนวิธีเล่า โดยเชื่อว่าหากหาเรื่องเล่าจากท้องถิ่นและผูกเรื่องได้ จะเกิดคอนเทนต์ที่ดีมีคุณภาพ

ภัททิรา วิภวภิญโญ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการและได้รับรางวัลจากภาคเหนือ เผยถึงความรู้สึกว่า ตนเป็นอาจารย์ สอนเล่าเรื่องผ่านภาษาที่แม่ฟ้าหลวง 10 ปี ซึ่งโครงการนี้ทำให้รู้ว่าการจะเล่าเรื่องสักเรื่อง ต้องเกิดจากสิ่งที่รัก ทำเป็นระบบ และที่สำคัญต้องปรุงเสน่ห์ลงไปด้วย ถึงจะได้เรื่องเล่าที่มีพลัง มีชีวิต และโลดแล่นได้จริงในโทรทัศน์ หรือสื่ออื่นๆ ที่จับต้องได้

ทั้งนี้ บนเวทีเสนาซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาคือ ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสารออนไลน์ The Cloud และ วิรัตน์ เฮงคงดี Creator & Producer รายการ The Rapper ช่อง Workpoint ก็ได้ย้ำถึงทางรอดของคอนเทนต์ยุคปัจจุบันว่า ขณะนี้สิ่งบอกเล่าไม่ใช่แค่ผ่านการจอโทรทัศน์ ช่องทางสื่อเยอะขึ้น เช่น มีผ่านกลุ่มไลน์ ดังนั้น คนทำคอนเทนต์ จะต้องมีความเชี่ยวชาญในตนเองและเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ความใหม่คือสิ่งที่ต้องมี โดยเปิดประเด็นใหม่ๆ ที่สังคมควรจะรู้ ชี้นำสังคม หรือทำให้คนเจ๋งๆ มีพื้นที่สื่อ ที่สำคัญคอนเทนต์ต้องทำให้สนุก ตื่นเต้น น่าติดตาม นั่นคือสิ่งที่เป็นพื้นฐาน

ท่ามกลางสื่อนับหมื่น นอกจากคอนเทนต์ที่ต้องสร้างสรรค์และมีคุณภาพ ต้องมีจุดเด็น มีคาแรกเตอร์ ปรุงแต่งให้ถูกจริตคน รวมถึงทำให้แก่นเดิมมีของที่น่าสนใจมากขึ้น โดยยิ่งปรุงได้กว้างแค่ไหนก็จะมีคนมาเสพสื่อเรามากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ โดยโครงการดังกล่าว ยังเหลือที่ภาคใต้ ภาคตะวันออก ที่จะทำต่อ และก็เป็นไปได้ว่าหากจัดครบทุกภาค อาจจะมีการคัดบทละครดี 4 ภาค ทำเป็นซีรีย์ต่อไป ซึ่งใครที่ไม่อยากพลาดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ที่จะร่วมเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทละครจริง ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก “เล่าเรื่องเป็นละคร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน