จากกรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุน้ำท่วมขังพื้นที่บางเขน เขตบางเขน กทม. ภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขระบบระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตว่า ผู้รับเหมายังไม่ได้ส่งมอบงานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินที่แล้วเสร็จให้ กทม. ทำให้ กทม.ไม่สามารถหากุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำได้ กระทั่งถูกสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น อ่านข่าว ผู้ว่าฯกทม. ยอมรับ ฝนกระหน่ำกรุง ทำน้ำท่วมบางเขน เพราะหากุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำไม่ได้

ล่าสุดวันที่ 3 ต.ค. ที่ท้องสนามหลวง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวมักเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ ทำให้ กทม.แก้ไขปัญหาชั่วคราว โดยการติดตั้งระบบสูบน้ำบริเวณหลักสี่ เพื่อดึงน้ำจากถนนใกล้เคียงลงสู่คลองลาดพร้าว ต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน มีนโยบายจัดทำโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (วอเตอร์แบงก์) เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งจะช่วยดึงน้ำฝนบริเวณวงเวียนบางเขนมากักเก็บไว้ในบ่อหน่วงน้ำ เมื่อฝนหยุดตกจะสูบน้ำที่เก็บไว้ระบายลงสู่คลองบางบัวและคลองรางอ้อ-รางแก้ว

จากนั้นสำนักการระบายน้ำจึงดำเนินการขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างตามระบบราชการ เพื่อให้บริษัทรับเหมาเข้ามาดำเนินก่อสร้าง เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดสัญญาลงวันที่ 6 พ.ย.นี้ กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 120 วัน ขณะนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ จึงอยู่ระหว่างส่งมอบงานให้ กทม.และ กทม.จะเข้าไปตรวจรับภายในวันที่ 10 ต.ค.นี้ ดังนั้นทรัพย์สินในพื้นที่ก่อสร้างจึงไม่ใช่ กทม. เพราะ กทม.ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้ผู้รับเหมาดำเนินการ

“การก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำ ประกอบด้วย บ่อหน่วงน้ำใต้ดินรวม 3 บ่อ กว้าง 6 เมตร (ม.) ยาว 30 ม. ลึก 6 ม. สามารถกักเก็บน้ำได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ครอบคลุมพื้นที่ 25,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้า กำลังสูบ 1 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 1 เครื่องและติดตั้งตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าเพื่อเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำ เนื่องจากตู้ควบคุมตั้งอยู่ในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันทรัพย์สินชำรุดเสียหาย จึงต้องมีระบบป้องกันโดยมีกุญแจล็อกไว้ ซึ่งผู้รับเหมาเป็นผู้ถือกุญแจตู้ควบคุมทั้งหมด ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเกิดฝนตกหนักและผู้รับเหมาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ กทม.ไม่สามารถเปิด-ปิดตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าของเครื่องสูบน้ำได้” รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว

นายจักกพันธุ์ กล่าวต่อว่า กทม.ได้เจรจากับผู้รับเหมากรณีฝนตกหนัก แม้ยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ กทม.แต่ผู้รับเหมาต้องอยู่ประจำตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า เพราะเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งอยู่ชั่วคราวไม่เพียงพอในการรองรับปริมาณฝนตกหนักมาก ส่งผลให้น้ำระบายล่าช้า ทั้งนี้ หากเกิดฝนตกหนัก กทม.จะมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า 3 ชั่วโมง ขณะนั้น สำนักการระบายน้ำจะต้องเร่งพร่องน้ำออกจากบ่อหน่วงน้ำให้มีระดับต่ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน