เปิดคลิปเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นักศึกษาชุมนุมขับไล่ รัฐบาลเผด็จการทหาร

14 ตุลา 16 – เหตุการณ์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนทางการเมือง ที่ต้องนำมาศึกษาเรียนรู้สำหรับคนรุ่นหลัง โดยการชุมนุมครั้งนั้น เกิดขึ้นจากความไม่พอใจของกลุ่มนักศึกษาต่อรัฐบาลเผด็จการ จากเรื่องต่างๆเกิดขึ้นเพราะการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลในขณะนั้น

ทั้งข่าวการทุจริตในรัฐบาล การพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร การถ่ายโอนอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจรต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารเข้าปกครองประเทศนานเกือบ 15 ปี

และรวมถึงการรัฐประหารตัวเอง พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองในระบอบเผด็จการทหารและต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น

การประท้วงเริ่มขึ้นอย่างเด่นชัดเมื่อมีการตีพิมพ์ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ออกเผยแพร่ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน ก่อนจะมีการควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “13 ขบฏรัฐธรรมนูญ” ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แล้วขยายสู่ถนนราชดำเนินซึ่งคาดกันว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่าครึ่งล้าน โดยในคืนวันที่ 13 รัฐบาล ให้สัญญาว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และยอมปล่อยตัวทั้ง 13 คน รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ4

ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม ก่อนเวลาเที่ยงไม่นาน รัฐบาลที่เคยรับปากจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ตัดสินใจใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน โดยอ้างว่า เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และอธิปไตยของชาติ หลังผู้ชุมนุมพยายามบุกยึดสถานที่ราชการด้วยอาวุธปืนที่บุก “ปล้น” มาก่อนหน้านั้น

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

หลังการออกอากาศของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้ราวหนึ่งชั่วโมง ทหารเปิดฉากยิงขึ้นอีกครั้งหลังนักศึกษาพยายามใช้รถโดยสารเข้าพุ่งชนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งพยานผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 1 ราย จากนั้นจึงมีการประกาศกฎอัยการศึก เริ่มต้นในเวลา 22 นาฬิกา แต่ทั้งทหาร และตำรวจก็มิได้ใช้ความพยายามในการสลายการชุมนุมของประชาชนแต่อย่างใด

นักศึกษาหลายรายกล่าวว่า พวกเขาได้ยินพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้ว แต่ไม่เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล พวกเขาจึงยังคงชุมนุมต่อไป จนกว่าจะแน่ใจว่า จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) จะพ้นจากอำนาจจริงๆ

จนกระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม จึงได้มีการประกาศว่า “3 ทรราช” (ถนอม, ประภาส และณรงค์ กิตติขจร บุตรชายถนอม) จากรัฐบาลชุดเดิมได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว เหตุการณ์จึงคลี่คลายลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน