“ถ้ามองประเทศนี้เป็นของ ‘คนกลุ่มเดียว’ คุณจะมองเพลงนี้ว่า ‘ทำลายประเทศ’ เพราะคุณมองอีกกลุ่มว่าไม่ใช่คนในประเทศ “#ประเทศกูมี #ผู้กำกับเบื้องหลัง

ประเทศกูมี – ภายหลังกลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ RAD เผยแพร่เพลงแร็พสะท้อนสังคมการเมือง “ประเทศกูมี” เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ก่อนเฟซบุ๊กเพจ “Rap Against Dictatorship (RAD)” ได้เผยแพร่ มิวสิกวีดีโอ “ประเทศกูมี” อย่างเป็นทางการ โดยเลียนฉากจากโศกนาฎกรรม 6 ตุลาคม 2519 ตอกย้ำความจริงน่าอดสูของสังคมไทย

จนเมื่อวันที่ 26 ต.ค. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ได้ออกมากล่าวถึงคลิปเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ของ RAD ว่า เพลงประเทศกูมี อาจมีเนื้อหาผิดกฎหมาย จึงต้องให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ตรวจสอบว่าเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่

ก่อนที่ บก.ปอท. จะระบุว่า มิวสิกวีดีโอ เพลงดังกล่าว เข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. และผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ รวมทั้งอาจดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์เพลงนี้ด้วย แต่กระแสสังคมส่วนใหญ่กลับมองว่า แร็พแดกดันสังคมการเมืองนี้ เป็นการนำเสนอความจริงที่เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มีอยู่ในจิตใจ แต่ไม่มีโอกาส หรือพื้นที่ที่จะแสดงออกมา

ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อสัมภาษณ์ นายธีระวัฒน์ รุจินธรรม หรือ พี่เปีย ผู้กำกับ และผู้วางแผนรูปแบบมิวสิกวิดีโอเพลง ประเทศกูมี เพื่อถามถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของกลุ่มศิลปินแร็พที่ทำโปรเจ็กต์นี้

เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ พี่เปียได้กล่าวถึงบริบทความแตกต่างของศิลปะ ระหว่างอดีต และปัจจุบันว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่บอกเล่า ‘ความจริง’ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมการเมืองที่มีมานานแล้ว ทั้งจากฝั่งตะวันตก และประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น 14 ตุลคม 2516 ก็มีการแต่งเพลงที่แสดงทัศนะทางสังคม เช่น เพลงเพื่อชีวิต และก็มาจนถึงปัจจุบัน ตนคิดว่า การแสดงออกเชิงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ศิลปินเพลงเองก็มีสิทธิ์ที่จะผลิตผลงานที่สะท้อนทัศนะคติของเขา ที่มองเห็นสังคม เป็นหน้าที่ของศิลปิน ที่ต้องพูดเรื่องนี้อยู่แล้ว ศิลปะคือที่ที่ใช้ศิลปินในการสื่อสารให้กับคนทั่วไป เป็นผู้ส่งสาร ที่ต้องมีคนรับสาร หรือเสพงาน ทั้งภาพยนตร์ ละครทีวี หรือเพลง ถ้างานชิ้นนั้นไม่น่าสนใจ หรือคนที่รับสารไม่รู้สึกว่าตรงกับสิ่งที่เขาคิดอยู่ สุดท้ายกระแสก็จะเงียบ

ส่วนแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นหลังเพลง ประเทศกูมี เผยแพร่ออกไป แสดงว่า ความจริงที่ในเพลงพูดถึง คนดู และคนฟัง รู้สึกอย่างเดียวกัน เพลงนี้เหมือนเป็นปากเสียงที่พูดแทนความรู้สึก มองในแง่นี้คือ คุณต้องยอมรับว่า คนที่มองเรื่องเสือดำ หรืออื่นๆ ที่อยู่ในเพลง ความจริงเพลงนี้มันก็เหมือนข่าวแปะ (ข่าวที่ถูกนำเสนอจากสื่อกระแสหลัก) ซึ่งคนที่มีสติปัญญาพอก็รู้ได้ว่า มันมีความอยุติธรรมเกิดขึ้น เราลองใช้ใจตัวเองวัดดูจะรู้ว่า คนทำผิดแต่ไม่ได้รับการลงโทษ ซึ่งความจริงที่อยู่ในเพลง มันอาจจะไม่ใช่ความจริงที่สวยหรู ‘มันอาจจะแสลงหูผู้มีอำนาจ’ แต่เรายืนยันว่า พูดความจริงในมุมของเราเอง และมีสิทธิ์ที่จะพูดสิ่งที่เราคิด

เมื่อถามต่อว่า เหตุใดเพลงประเทศกูมี ถึงสร้างการระคายเคืองให้แก่ผู้มีอำนาจ พี่เปีย ตอบว่า เพราะ ในเพลงนี้ ‘รัฐ’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจ’ ตกเป็นจำเลย แม้ว่าเราจะไม่ได้เอ่ยชื่อไป แต่เชื่อว่า สังคมรับรู้ และตีความเองได้

สำหรับประเด็นที่เพลงประเทศกูมี ถูกผู้มีอำนาจมองว่าเป็นผลผลิตที่ทำร้ายประเทศไทย พี่เปียตอบว่า มันขึ้นอยู่กับว่า คุณมองประเทศไทยอย่างไร ตนมองประเทศไทยในฐานะ แผ่นดินที่ตนรัก และรวบรวมพลเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ ตนคิดว่าการพูดความจริง หรือประเทศที่ยินยอมจะให้พูดในสิ่งที่ประชาชนคิดได้ มันจะเป็นประเทศที่น่าอยู่

“แต่ถ้าคุณมองประเทศนี้เป็นของคุณ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คุณก็จะรู้สึกว่า คนที่ทำเพลงนี้ออกมาคือ คนที่ทำร้ายประเทศ เพราะคุณมองอีกกลุ่มว่าไม่ใช่คนในประเทศ “

หลังจากมีผู้มีอำนาจในรัฐบาลจับตาจะตั้งข้อหาผู้ที่เกี่ยวของกับเพลงนี้ พี่เปียตอบว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครติดต่อมาให้เรียกไปพบ แต่ก็รับรู้ข่าวสารตลอด และเตรียมใจไว้แล้ว หากต้องถูกเรียกตัว ก็พร้อมที่จะเข้าไป เพราะตนไม่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้เป็นสิ่งที่ผิด หรือทำร้ายประเทศ เชื่อว่าเราสามารถพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้

หากจะถามว่าเอาเงินทุนจากไหนมาสร้างเอ็มวีนี้ ก็อยากจะบอกว่า ตนเป็นช่างภาพมีอุปกรณ์ และมีคนรู้จักในวงการนี้ ที่เข้ามาร่วมมือกันทำไม่มีส่วนได้เสียเรื่องเงิน แต่ทำไปเพราะมีความรักในเพลง และอยากจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน