ทับสะแกวุ่นหนัก ฝนถล่ม จมเพชรเกษม สลดซ้ำ‘รตท.’ กำลังดูแลงานจราจรโดนน้ำซัดปลิว พัดเข้าท่อระบายน้ำดับ บางสะพานก็วิกฤต ระดมกระสอบทรายป้องร.พ. สั่งย้ายคนไข้-เครื่องมือแพทย์ แถมมีน้ำล้นอ่างอีก 3 แห่ง คลื่นยักษ์จมเรือนำเที่ยว-เรือประมง 5 ลำ ชุมพรท่วมอีกรอบ ประกาศปิดโรงเรียนกันวุ่น สายเอเชียก็จมด้วย สุราษฎร์ฯยังอพยพ-บางจุดท่วมเกือบ 3 เมตร นครศรีฯยังวิกฤต ภูเขาถล่มปิดทับถนน คนชรา-เด็กอยู่ศูนย์อพยพเริ่มป่วย สนามบินยังปิดเพิ่ม 2 วัน ด้าน 3 องคมนตรีถกบิ๊กตู่ เผยในหลวงทรงห่วงใยชาวใต้

เดือดร้อนท่วมใต้เกือบล้านคน

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมหนักในภาคใต้ว่า ฝนที่ตกหนักส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ประชาชนได้รับผลกระทบ 330,415 ครัวเรือน 958,602 คน ผู้เสียชีวิต 21 ราย สูญหาย 2 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง ถนน 218 จุด คอสะพาน 59 แห่ง

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ยังคงมีสถานการณ์ใน 11 จังหวัด โดยจ.พัทลุง ท่วม 11 อำเภอ จ.นราธิวาส ท่วม 13 อำเภอ จ.สงขลา ท่วม 11 อำเภอ จ.ปัตตานี ท่วม 8 อำเภอ จ.ตรัง เข้าท่วม 5 อำเภอ จ.สุราษฎร์ธานี ท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ จ.นครศรีธรรมราช ท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ จ.ชุมพร ท่วม 6 อำเภอ จ.กระบี่ ท่วม 4 อำเภอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ท่วมพื้นที่อ.บางสะพานน้อย และจ.ระนอง ท่วมอ.เมืองระนอง ภาพรวมสถานการณ์ยังมีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำลดลง ยกเว้นจ.นครศรีธรรมราช ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และนราธิวาส ระดับน้ำทรงตัว

นายฉัตรชัยกล่าวอีกว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในวันที่ 9-10 ม.ค. ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง จึงให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและดินถล่ม

ระดมป้องร.พ.บางสะพาน

สำหรับสถานการณ์ฝนถล่มและน้ำท่วม เริ่มจากจ.ประจวบคีรีขันธ์ มีฝนตกหนักในพื้นที่ตลอดทั้งคืนถึงเช้า โดยบ้านวังน้ำเขียวและคลองลอยที่อยู่ติดเทือกเขาตะนาวศรีวัดปริมาณฝนได้ 120 มิลลิเมตร ทำให้นายทวี นริสศิริกุล ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ สั่งตั้งศูนย์แก้ปัญหาอุทกภัยส่วนหน้า ที่ร.พ.บางสะพาน พร้อมระดมกำลังนำกระสอบทรายป้องกัน ร.พ.บางสะพาน หลังเริ่มมีน้ำไหลเข้าท่วม เนื่องจากโรงพยาบาลอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมเร่งช่วยย้ายสิ่งของและอุปกรณ์แพทย์ด้วย ส่วนบริเวณสี่แยกบ้านกรูด ต.ชัยเกษม เริ่มมี น้ำท่วมขังเช่นกัน รวมถึงสะพานข้ามคลอง ต.พงศ์ประศาสตร์ พบน้ำท่วมขังสูง 1 เมตรด้วย แถมน้ำยังกัดเซาะสะพานหลายแห่ง

นพ.เชิดชาย ชยวัฑโฒ ผอ.ร.พ.บางสะพาน กล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่ย้ายเครื่องมือแพทย์ขึ้นที่สูงแล้ว ส่วนผู้ป่วย 36 คน ได้ย้ายขึ้นชั้น 3 เหลือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ให้เตรียมพร้อมเคลื่อนย้าย ซึ่งต้องดูท่าทีน้ำ โดยตอนนี้ห้องผ่าตัดกับห้องคลอดไม่สามารถให้บริการได้

จมเพชรเกษม-น้ำซัดร.ต.ท.ดับ

ด้านนายศักดิ์รินทร์ ทุมเสน นายอำเภอบางสะพาน กล่าวว่า คาดน้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีจะไหลมาสมทบกับน้ำตัวเมือง ส่งผลให้น้ำที่ท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชนอยู่แล้วจะมีระดับสูงขึ้นอีก นอกจากนี้น้ำทะเลที่หนุนยังทำให้ระบายน้ำลงทะเลยากขึ้นด้วย จึงประกาศเตือนชาวบ้านให้ย้ายของขึ้นที่สูง

ขณะที่นายกิตติกรณ์ เทพอยู่อำนวย ปภ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า รับรายงานจาก อ.บางสะพานน้อย และอ.บางสะพาน เกิดน้ำป่าไหลหลาก หลังฝนตกต่อเนื่อง โดยใน อ.บางสะพานน้อย ถูกน้ำท่วมแล้ว 3 ตำบล ส่วนอ.บางสะพาน พบน้ำเอ่อท่วมตัวเมืองและน้ำล้นอ่างเก็บน้ำคลองลอย อ่างเก็บ น้ำโป่งและอ่างคลองลอยโปร่งสามสิบ

ส่วนอ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเริ่มขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง เนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง ต่อมารับแจ้งมีเรือนำเที่ยวชื่อ สามอ่าวปริ๊นเซส 3 ที่จอดลอยลำอยู่ ถูกคลื่นซัดจมใกล้ชายฝั่งอ่าวประจวบฯ นอกจากนี้มีเรือประมงขนาดเล็กถูกคลื่นซัดจมอีก 4 ลำ

สำหรับถนนเพชรเกษมพบมีน้ำท่วมหลายจุด แต่ยังสัญจรผ่านได้ ขณะที่อ.ทับสะแก เริ่มมีน้ำไหลข้ามถนนเพชรเกษม ทั้งขาขึ้นและขาล่อง สูง 50 ซ.ม. วิ่งผ่านได้เฉพาะรถใหญ่เท่านั้น ทำให้รถจอดติดยาว 10 ก.ม. นอกจากนี้ยังเกิดเหตุสลด เมื่อร.ต.ท.ดุสิต สนธนาการ อายุ 47 ปี รองสว.ป.สภ.ห้วยยาง ออกปฏิบัติหน้าที่สำรวจน้ำท่วมบนถนนเพชรเกษม ก่อนพบน้ำไหลข้ามถนนเพชรเกษม ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จึงคอยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน แต่เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรง ก่อนซัดร.ต.ท.ดุสิต จนลื่นลงไปในร่องกลางถนนและพัดเข้าไปในท่อระบายน้ำลอดถนน ทำให้จมหายไป ซึ่ง ผู้เห็นเหตุการณ์พยายามช่วยค้นหาและนำส่งร.พ.ทับสะแก แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ชุมพรจมซ้ำ-พระย้ายศพหนีน้ำ

ที่จ.ชุมพร ในพื้นที่เกิดฝนตกหนักอีกครั้ง ทำให้อ.เมืองและอ.หลังสวน ถูกน้ำท่วมรอบที่ 2 โดยฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน ส่งผลให้ เกิดน้ำป่าเข้าท่วมบ้านเรือนหลายหมู่บ้าน โรงเรียนในตัวเมืองชุมพรต้องประกาศให้นักเรียนกลับบ้านทันที หลังระดับน้ำที่ท่วมกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกรอบ จึงเร่งช่วยเหลือชาวบ้านและขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง ส่วนถนนสายเอเชีย 41 ช่วงก.ม. 1-2 ต.ขุนกระทิง อ.เมืองชุมพร ทั้งขาขึ้นและขาล่อง มีน้ำท่วมถนน 20 ซ.ม. ระยะทาง 1 ก.ม. รถเล็กวิ่งผ่านไม่ได้ ขณะที่วัดเทพเจริญ อ.ท่าแซะ พระต่างช่วยกันยกโลงศพของชาวบ้านที่มาตั้งสวดขึ้นที่สูง เพื่อหนีน้ำที่เอ่อท่วม เพราะเกรงน้ำจะพัดโลงและศพไป

ที่จ.สุราษฎร์ธานี สถานการณ์น้ำท่วมยังน่าวิตก โดยม.3 ต.ตะกุกใต้ อ.วิภาวดี ระดับน้ำยังสูงเกือบ 3 เมตร ทำให้บ้านเรือนกว่า 50 ครัวเรือน จมเกือบมิดหลังคาหลายหลัง ประชาชนขนทรัพย์สินย้ายหนีกันวุ่น โดยนายเอกชัย สุนทร นายอำเภอวิภาวดี ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนและเผยว่า ชาวบ้านได้รับผล กระทบเป็นวงกว้าง ถนนสายหลักของอำเภอถูกตัดขาด บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 200 ครัวเรือนที่ต้องอพยพคนและทรัพย์สินมาอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนเกาะสมุยเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยระดับน้ำลดลง แต่คลื่นลมในทะเลยังแรงเจ้าหน้าที่ต้องปักธงแดงเตือนนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำ เช่นเดียวกับชุมชนตลาดดาวซีฟู้ด ม.3 ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย ที่ยังมีน้ำท่วมขังถนน

นครศรีฯภูเขาถล่มทับถนน

ที่ จ.นครศรีธรรมราช หลายพื้นที่ยังได้รับผลกระทบน้ำท่วม โดยเฉพาะ ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังได้รับผลกระทบวิกฤต บริเวณถนนทางเข้าถูกน้ำท่วมสูงเกือบเมตร พื้นที่ต่ำท่วมถึง 2 เมตร ต้องใช้เรือสัญจรเข้าออก ทีมแพทย์เคลื่อนที่จาก ร.พ.สุราษฎร์ธานี ต้องนำยาไปมอบให้คนป่วยที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ซึ่งเป็นศูนย์อพยพผู้ประสบภัยนับ 100 ครอบครัว

นายสมยศ ชูโฉม กำนัน ต.แม่เจ้าอยู่หัว เผยว่า เป็นกำนันมากว่า 30 ปีไม่เคยเห็นน้ำท่วมครั้งไหนจะมากเท่าครั้งนี้ ชาวบ้าน 700 กว่าครัวเรือนได้รับผลกระทบหมด ทั้งทรัพย์สินไร่นา ต่างต้องหมดเนื้อหมดตัวไปตามกัน ตอนนี้สิ่งที่อยากได้รับการช่วยเหลือเฉพาะหน้าคือ อาหารการกินน้ำดื่มและยารักษาโรค เนื่องจากคนชราและเด็กเริ่มป่วย

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในตลาดเขตเทศบาลตำบลชะอวดเริ่มลดลงแล้วจนเกือบปกติ ส่วนเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชก็คลี่คลายแล้วเช่นกัน รถเริ่มวิ่งไปมาได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ได้แก่ อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร อ.ปากพนัง อ.เฉลิมพระเกียรติ และอ.เมือง ระดับน้ำได้ยกตัวสูงขึ้นกว่า 1 เมตร เนื่องจากมีน้ำจากโซนภูเขาไหลมาสมทบ จังหวัดต้องขอรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรืออีก 40 เครื่องมาติดตั้ง

สำหรับถนนแขวงทางหลวงชนบทนครศรี ธรรมราชยังผ่านไม่ได้ 13 สายและ 14 จุด เช่น ถนนสายทุ่งขวัญแก้ว-เนินธัมมัง น้ำท่วมสูง 1 เมตร ถนนสายทางพูน-ไม้หลา ท่วมสูง 60 ซ.ม. และถนนสายห้วยแก้ว-สิชล ดินโคลนถล่มปิดถนนสูง 2 เมตร

ขณะที่เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงนครศรี ธรรมราชที่ 2 (ทุ่งสง) สั่งปิดการจราจรทางหลวงหมายเลข 41 ช่วงทุ่งสง-ร่อนพิบูลย์ หลังภูเขาถล่มลงมาทับเส้นทางบางส่วนและมีแนวโน้มถล่มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพบ รอยร้าวแนวภูเขาลุกลาม

ด้านน.ส.วาริน ชินวงศ์ ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช เผยว่า ผู้ประกอบการเอส เอ็มอีรายย่อยใน อ.ทุ่งสง อ.ชะอวด และเขตเทศบาลนครนครศรีฯ ได้รับผลกระทบ เสียหายไม่ต่ำกว่าหมื่นราย ความเสียหาย ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ในหลวงทรงห่วงใยชาวใต้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยภายหลังองคมนตรีประกอบด้วย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และนายวิรัช ชินวินิจกุล เข้าหารือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ว่า เป็นการเชิญพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาอุทกภัย ที่อาจจะลำบากในการเข้าช่วยเหลือประชาชน เพราะจะส่งเงินไปประชาชนก็ไม่สามารถนำเงินไปซื้อข้าวของได้ จะส่งข้าวสารไปก็ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำ ในการหุงต้ม จึงทำให้ลำบากไปหมด และมีแนวทางที่รัฐบาลรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมนำไปดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากองคมนตรีเชิญ พระราชกระแสมาแล้ว รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายวิษณุกล่าวว่า จะให้ความช่วยเหลือประชาชน เพราะทรงห่วงใยว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร เนื่องจากอาหารแจกจ่ายได้ไม่ทั่วถึง และแต่ละอำเภอมีปัญหาแตกต่างกัน บางแห่งได้ยินมาว่าราษฎรกว่า 2-3 หมื่นคนต้องอพยพไปพักอยู่ในโรงแรมหรือโรงเรียนในที่เดียวกันเป็นการชั่วคราว กินอาหารวันละ 3 มื้อ ซึ่งแปลว่าต้องใช้งบประมาณเลี้ยงดูวันละ 1 ล้านบาท ตรงนี้รัฐบาลจะมาพิจารณาว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร ทั้งนี้ในวันที่ 10 ม.ค.รัฐบาลจะเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้อย่างเป็นทางการ ตั้งอยู่ที่สำนักปลัดสำนักนายกฯ (สปน.) และการประชุมครม.วันที่ 10 ม.ค. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย จะมีการเสนอมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือเข้าที่ประชุม

สนามบินนครศรีฯปิดเพิ่ม 2 วัน

ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้มีสถานศึกษาได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนน รั้ว อาคารสถานที่และอุปกรณ์การเรียนการสอนทั้งสิ้น 2,253 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 768 ล้านบาท โดยเตรียมเสนอของบฯ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังให้ระดมนักเรียน นักศึกษา อาชีวศึกษาและกศน.ทั่วประเทศ ออกหน่วยจิตอาสา 7,500 คน โดยลงพื้นที่พร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 13 ม.ค. เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

ด้านนายสุขสวัสดิ์ สุขวรรณโณ ผอ. ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช จำเป็นต้องประกาศปิดทำการบินเพิ่มเติมอีก 2 วันคือ วันที่ 10-11 ม.ค.60 เนื่องจากยังประสบปัญหาน้ำท่วมบริเวณจุดกลับลำเครื่องบินและหลอดไฟนำร่องบริเวณรันเวย์อีก 4-5 จุด โดยวันที่ 10 ม.ค. กรมท่าอากาศยานจะส่งเจ้าหน้าที่มาทดสอบความแข็งแรงของพื้นผิวรันเวย์และทดสอบระบบไฟฟ้าทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน