หมอจุฬา ซัดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ปล่อยต่างชาติจดสิทธิบัตร กัญชา

หมอจุฬา กัญชาเพื่อการแพทย์ / หลังจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษมีมติเลื่อนการยกระดับ กัญชา จากยาเสพติดประเภท 5 เป็นประเภท 2 ออกไปก่อน เพื่อรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความทางกฎหมายให้ชัดเจนว่า สามารถทำได้หรือไม่นั้น

วันที่ 10 พ.ย. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรรมการพิจารณาการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า การเลื่อนออกไปก่อนก็ถือว่า ดี ตรงที่หากรอร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะครอบคลุมมากกว่า และจากไทม์ไลน์ก็คิดว่าน่าจะทันในรัฐบาลชุดนี้

แต่ที่กังวลคือ กลัวว่าที่ทำกันมาหมดจะไม่สามารถใช้ได้จริง เนื่องจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กลับทำบางสิ่งที่อาจส่งผลให้ประเทศเสียหายได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งที่ต้องแจ้งนายกรัฐมนตรีด่วน เพราะที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับเรื่องจากบริษัทต่างชาติ ที่เข้ามาขอยื่นจดสิทธิบัตรสารจากกัญชา ทั้งๆที่ทำไม่ได้ เพราะสารที่บริษัทต่างชาติมาจดเป็นสารในธรรมชาติของกัญชา

ตามกฎหมายสิทธิบัตรไม่ได้ให้จด แต่จะจดได้ก็ต่อเมื่อเป็นสารสังเคราะห์ ถือว่าผิดพลาดมาก

“ที่สำคัญเมื่อบริษัทนั้นมายื่นเรื่องขอสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับรับเรื่อง และตามขั้นตอนได้ประกาศในเว็บไซต์เพื่อให้มีคนมาคัดค้าน ซึ่งให้ระยะเวลาคัดค้าน คือ 90 วัน ปรากฏว่าผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังเหลือขั้นตอนคัดค้านได้อีก ปัญหาคือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า กรมทรัพย์สินฯ จะยืนฝั่งคนไทย เพราะการกระทำแบบนี้ถือว่าผิดพลาดมาก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ที่กังวลคือ หากบริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตร สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ทั้งการเดินหน้าปลดล็อกกฎหมายเพื่อผู้ป่วย ทั้งการเดินหน้าขององค์การเภสัชกรรม ทั้งโรงงานกึ่งอุตสาหกรรม และการพัฒนาสายพันธุ์ การสกัดสารใช้งบ 120 ล้านจะทำได้อยู่หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่น่าห่วง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้โพสต์เฟซบุ๊ก “ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า เรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องนี้ต้องแจ้งนายกฯรัฐมนตรีด่วนครับ เดี๋ยวจะเสียกัญชาให้ต่างประเทศไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบถามไปยังอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างรุนแรงในเรื่องการปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาถือสิทธิพืชสมุนไพรกัญชา ทั้งๆที่มีการทักท้วงจากทางกระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรมหลายครั้ง

ประเด็นคือ “ยังไม่ได้สิทธิบัตร”แต่อยู่ในกระบวนการ และได้รับการคุ้มครองแล้ว!!!!! ร้ายกว่าเรื่องที่เราพยายามจะเอามาใช้ในคนไทยด้วยซ้ำ

เรื่องสำคัญที่สุดคือการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยให้ต่างชาติได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรกัญชา แม้ทางกรมจะบอกว่ายังไม่ออกเลขสิทธิบัตรให้ แต่แง่ของกฏหมายถือว่าได้รับการคุ้มครองแล้ว ประเด็นคือ คำขอคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่นคำขอแล้ว ไม่สามารถใช้ความเข้มข้นตามอัตราส่วนดังกล่าว หรือการรักษาโรคดังกล่าวได้

แม้ยังไม่ได้เลขสิทธิบัตรก็ตาม ทั้งที่ขัด พรบ.สิทธิบัตร ม. 9(1), 9(4) , 17(4) ดังนั้นกรมทรัพย์สินต้องไม่ควรปล่อยให้มันคาราคาซัง สรุปแล้วหนทางที่ดีที่สุดกับทุกฝ่ายคือ กรมฯต้องดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. โดนถอนคำขอมิชอบออกไปให้หมด

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน