หมอจุฬา ซัด กรมทรัพย์สินฯ ไม่เบรกฝรั่งจดสิทธิบัตร กัญชา แถลงออกมาได้…!

หมอจุฬา ซัด / วันที่ 12 พ.ย. กรณีที่ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ชี้แจงเกี่ยวเรื่องการจดสิทธิบัตร กัญชา ว่าไม่สามารถปฏิเสธคำขอการจดสิทธิบัตรจากบริษัทชาวต่างชาติได้ รวมทั้ง กัญชา ยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ไม่ใช่สิทธิของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรรมการพิจารณาการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ได้โพสต์ผ่านเพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า แถลงออกมาได้ยังไงปฏิเสธการรับคำขอไม่ได้ ทำไมจะปฎิเสธไม่ได้
แนะนำตรวจสมองด่วน

1.ไม่ควรรับจด เพราะเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายในประเทศไทย ตราบใดที่พรบ.ยังไม่ได้แก้ไขเป็นอย่างอื่น

2. พ.ร.บ.สิทธิบัตร ม.9(1) ระบว่า “สารสกัดจากพืชรับจดสิทธิบัตรไม่ได้”. การรับจดจึงผิดกฎหมายนี้ด้วย

ขัดต่อ ม. 9 (1) เนื่องจากซึ่งเป็นสารสกัดจากพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการขอถือสิทธิรวมไปถึงการใช้บำบัดรักษาโรค ซึ่งขัดต่อ ม. 9(4)

3.เมื่อกรมทรัพย์สินฯ ไปรับการยื่นขอจดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว จะมีทางออกอย่างไร แนะนำให้ใช้อำนาจอธิบดียกเลิกในขั้นตอนขอจดทะเบียนไปก่อน แทนที่จะปล่อยให้ไหลไปตามกระบวนการขั้นตอนซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่บกพร่อง

“หมอสมองที่ไหน รับตรวจ ท่าทางรักษายาก”

รวมทั้ง เพจ BIOTHAI ได้โพสต์ระว่า สิ่งที่ประชาชนควรตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา มี 3 ระดับคือ

1.ปัญหาแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าทำไมจึงอนุญาตให้มีการเดินหน้าคำขอสิทธิบัตรซึ่งเกี่ยวข้องกับสารสกัดจากพืช ซึ่งขัดมาตรา 9(1) ที่ระบุว่าจุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืชหรือสัตว์

เนื่องจาก cannabinoid เป็นสารสกัดจากพืช เช่นเดียวกันกับการอนุญาตให้มีการอ้างสิทธิบัตรจากสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคโรคลมบ้าหมู ทั้งที่ผิดมาตรา 9 เพราะเป็นความรู้แพทย์แผนไทยโบราณ เป็นต้น

2.ปัญหาการคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศภายใต้สนธิสัญญา PCT โดยนอกเหนือจากการยื่นขอสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้วนั้น ยังมีในกรณีที่คำขอสิทธิบัตรกัญชาซึ่งมีจำนวนหนึ่งผ่าน PCT หรือสนธิสัญญาความคุ้มครองสิทธิบัตรระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีในสนธิสัญญานี้จนประสบผลสำเร็จโดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยไทย

แต่ในทางปฏิบัติเรากลับพบคำขอสิทธิบัตร PCT จากต่างประเทศมากถึง 28,518 สิทธิบัตร แต่มีคำขอสิทธิบัตรจากประเทศไทยไปต่างประเทศเพียง 447 สิทธิบัตร (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2559) เท่านั้น

หน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีความจำเป็นต้องใช้บทบาทของตนในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีใน PCT โดยทำหน้าที่ในการตรวจสอบคัดค้านคำขอสิทธิบัตรในต่างประเทศเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศด้วย

โดยเฉพาะในกรณีคำขอสิทธิบัตรนั้นนำเอาทรัพยากรชีวภาพหรือภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยไปจดสิทธิบัตร ทั้งในกรณีกระท่อมและกัญชา เนื่องจากหากคำขอสิทธิบัตรนั้นมีผลจะทำให้เป็นการขัดขวางการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ของประเทศในต่างประเทศในระยะยาวด้วย

3.ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในข้อ 1 และ 2 คือความจำเป็นในการแก้กฎหมายสิทธิบัตรของไทย ให้คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเอง ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและองค์กรสาธารณประโยชน์ให้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร

ให้คำขอสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อป้องกันกรณีโจรสลัดชีวภาพ และสร้างกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว ทั้งๆที่เป็นหลักการสำคัญในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

แก้กฎหมาย

ปัจจุบันในกฎหมายสิทธิบัตรของหลายประเทศ เช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ จีน ฯลฯ เป็นต้นมีการระบุถึงเงื่อนไขดังกล่าวอย่างชัดเจน ส่วนในหลายประเทศก็มีข้อกำหนดดังกล่าวในกฎหมายอื่น ซึ่งจะมีผลต่อกฎหมายสิทธิบัตร เป็นต้น

รัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมาจากการวิเคราะห์จุดแข็งของประเทศคือความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่แทนที่เราจะเห็นการส่งเสริมเงื่อนไขให้มีการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการปกป้องและพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

แต่สิ่งที่เราเห็นในทางปฏิบัติคือการใช้วาทกรรมสวยหรูแต่เนื้อหาที่แท้จริงคือการบ้าการลงทุนจากต่างชาติ และเอื้ออำนวยอุตสาหกรรมจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ มิได้วางรากฐานให้มีการพัฒนาความเข้มแข็งของคนในประเทศ มิหนำซ้ำยังทำลายการวิจัยและพัฒนาโดยกระบวนการมอบสิทธิบัตรที่ไม่ชอบแก่บริษัทยาและสถาบันวิจัยซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ

ติดตามคำชี้แจงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาวันนี้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน