‘สุพัฒน์’ เสนอจำกัดรถยนต์เข้าพื้นที่กทม. ระดับยูโร 5-6 แก้ ฝุ่นละออง

ปัญหาฝุ่นไม่ได้รุนแรงกว่าเดิม ผู้คนตื่นตระหนกเพราะโซเชียลเร็ว

วันที่ 15 ม.ค.นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่เพิ่งมาเกิด แต่เกิดขึ้นและมีการติดตามมา 5-6 ปีแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีความรุนแรงไปกว่าเดิม

ระดับความเข้มข้นสูงสุดอาจจะต่ำกว่าเดิมด้วยซ้ำ สาเหตุที่เมื่อก่อนเราไม่ค่อยรู้สึกทั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้นอยู่แล้วนั้นเป็นเพราะข้อมูลข่าวสารในอดีตมีน้อย การตรวจวัด PM 2.5 ในอดีตก็มีตำแหน่ง สถานีตรวจวัด และ การสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนที่ยังน้อย แต่ในช่วงนี้ข้อมูลทางด้านโซเชียลมันเร็ว

สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

สถานีตรวจวัดของ คพ.และข้อมูลต่างๆก็เพิ่มขึ้น ทำให้มีตัวเลขข้อมูลไปถึงมือประชาชนมากกว่าเดิมและรู้ว่ามันมีปัญหาเยอะ แต่ถามว่าแตกต่างไปจาก 3-4 ปีก่อนหน้านี้หรือไม่ก็ไม่ได้แตกต่าง

นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการแก้ปัญหาปีที่แล้วก็มีปัญหาแบบนี้ การแก้ปัญหาก็เหมือนกับที่กำลังทำอยู่และปีนี้มันก็กลับมาเหมือนเดิม

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาทั้งในปีที่แล้วหรือที่กำลังทำในปีนี้มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหา มันเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่ต้นเหตุของปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ปีหน้ามันก็จะกลับมาอีกเพราะต้นเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นเพียงการบรรเทา

การฉีดน้ำ การล้างถนนที่กำลังทำกันอยู่เป็นแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง เฉพาะหน้าแล้วก็บรรเทาเท่านั้น เหมือนกับเราเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดหัวตัวร้อนเราก็กินยาแก้ปวดลดไข้แต่ปัญหาก็ยังอยู่ในตัวเรา

2 สาเหตุฝุ่นเกินเกณฑ์

ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้ค่า PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นใน กทม. ซึ่งนักวิชาการหลายท่านเห็นตรงกัน คือ

1.รถยนต์ จราจรที่ติดขัดและปล่อยมลพิษออกมา PM 2.5 ส่วนใหญ่ออกมาจากรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าเป็นตัวหลักเลยรวมถึงรถโดยสารประจำทางด้วย ยิ่งการจราจรติดขัดมากๆ ก็จะส่งผลให้การระบายมลพิษจากรถยนต์เหล่านี้พุ่งออกมาเยอะ

2.การเผา ในกทม.ก็มีการเผา และรอบนอกในเขตปริมณฑลยิ่งมีการเผาทั้งในภาคการเกษตรและเผาขยะ ทำให้มีการกระจายตัวของมลพิษเข้ามาในเขตกทม.ได้ ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าและอาคารคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ก็ส่งผลต่อการหมุนเวียนของอากาศ

แต่เดิมกทม. มีตึกสูงไม่มาก ค่อนข้างที่จะราบการกระจายอากาศจากศูนย์กลางออกไปภายนอกก็จะดี ตอนนี้ตึกสูงเรียงแถวเป็นกำแพง ปิดกั้นทำให้อากาศไหลออกไปไม่ได้ การกระจายตัวของอากาศก็ลำบาก

รถเข้ากรุงเทพต้องมีมาตรฐาน

นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหานั้น เห็นว่าอันแรกต้องลดจากตัวรถยนต์ ถ้าจะไปแก้ไขปัญหาและให้เกิดความยั่งยืนว่าปีหน้ามันจะบรรเทาลง รถแต่ละคันต้องสะอาด มลพิษน้อย มาตรฐานที่ดีและสูงขึ้น ถ้าจำนวนรถเพิ่มขึ้น มาตรฐานรถยนต์ต้องดีด้วย อยู่ระดับยูโร 5-6 น้ำมันก็ต้องมีกำมะถันลดลงมาเหลือไม่เกิน 10 พีทีเอ็ม และต้องทำให้การจราจรคล่องตัวด้วย

ทั้งนี้มีข้อเสนอจากนักวิชาการให้กำหนดการใช้รถเป็นวันเลขคู่เลขคี่ เพื่อลดจำนวนการใช้รถให้น้อยลง และการจราจรเบาบางขึ้น แต่ต้องถามว่ารัฐบาลกล้าทำหรือไม่เพราะจะกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางต่างๆของประชาชนด้วย ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะถึงเหตุการณ์นี้

อีกทางหนึ่งที่อยากจะเสนอคืองานหลายประเภททั้งราชการและเอกชนสามารถทำที่บ้าน หรือไม่ต้องเดินทางมาที่ทำงานก็ได้แต่ต้องส่งงาน ในช่วงนี้ให้ทำงานที่บ้านได้หรือไม่ เพื่อลดการเดินทางของรถที่เข้าสู่กทม. และจะถือว่าเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้ด้วยโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงาน

การเผาก็มีความสำคัญเช่นกัน จังหวัดปริมณฑลต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการเผา ทุกวันนี้ยังพบเห็นการเผาหญ้าริมทาง การเผาในที่นาที่เก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งทำให้ฟุ้งกระจายเข้าพื้นที่ กทม. ได้ ขณะที่การทำฝนหลวงนั้นตนคิดว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข ต้นเหตุก็ยังปล่อยมลพิษออกมาเหมือนเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน