แฉเบื้องหลัง เขื่อนจีนปล่อยน้ำ ทำน้ำโขงขึ้นสูง ชาวบ้านครวญ ผลผลิตเสียหายหนัก

สถานการณ์น้ำโขงที่ผันผวน ขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เว็บไซต์ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แจ้งเตือนว่า นับตั้งแต่วันที่ 14-21 ม.ค.นี้ ระดับน้ำแม่น้ำโขงตอนล่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประเทศไทย ถึงนครหลวงพระบาง ประเทศลาว จะมีความผันผวนสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา

และอาจสูงกว่าระดับสะสมสูงสุดที่ผ่านมา จากเมืองเวียงจันทน์ถึงอ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำจะมีความผันผวนสูงกว่าระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่าระดับของแม่น้ำโขงในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีระดับเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ท โดยเฉพาะจากเชียงแสน ถึงนครพนม ในประเทศไทย

ขณะที่ในพื้นที่ เมืองกัมปงจาม ประเทศกัมพูชา ไปยังเมืองตานโช ของประเทศเวียดนาม ระดับน้ำโขงกลับลดลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดกว่าที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าเมื่อน้ำโขงขึ้นสูงผิดฤดูกาลเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบถึงเกษตรกรที่ปลูกพืชผักอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำ ซึ่งไม่สามารถรับมือกับความผันผวนของระดับน้ำได้ทัน ส่งผลให้ผลผลิตที่กำลังงอกเงยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ชาวบ้านริมโขงครวญ ผลผลิตเสียหายหนัก

จินตนา เกตุพิมล ชาวบ้าน จากจ.บึงกาฬ หนึ่งในเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระดับน้ำโขงที่สูงขึ้นว่า หลังจากลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วม ที่บ้านพันลำ หมู่ 2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ เมื่อบ่ายวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา

สิ่งที่เห็นคือภาพแปลงกระเทียมของชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จากการสอบถาม แม่ระลึก ปิดเมิง ชาวบ้านในพื้นที่ แกก็งงว่าน้ำมาจากไหน ขึ้นมา 3-4 วันแล้ว แปลงกระเทียมถูกพัดเสียหายไป 3 แปลงใหญ่แล้ว แต่ก็พูดอะไรมากไม่ได้ มันช้ำใจ เพราะค่าเสียหายน่าจะอยู่ในหลักหมื่น

จินตนา เล่าต่อว่า รายที่ 2 ไปพูดคุยกับ แม่ไพมณี ดาจง อายุ 54 ปี ที่ปลูกกระเทียมขายเป็นอาชีพ เพื่อนำไปทำกระเทียมดอง โดยปลูกในพื้นที่ประมาณ 15 แปลง ซึ่งมีรายได้มากพอสมควร และก็ลงทุนอยู่มากเช่นกัน แม่ใหญ่เล่าว่า วันแรกที่น้ำขึ้น กำลังล้างผักอยู่ เห็นว่าน้ำขึ้นมาเร็วมากเรียกได้ว่าเป็นวินาทีเลย จนเกือบขึ้นมาจากท่าน้ำไม่ทัน น่ากลัวมากเลย เพราะไม่คิดว่าน้ำจะขึ้นมาเร็วขนาดนี้ ทำให้กระเทียมเสียหายประมาณ 3-4 แปลง เป็นมูลค่าเกือบ 1 หมื่นบาท

จินตนา เล่าอีกว่า จากนั้นไปคุยกับ แม่นฤมล ไชยขันธ์ อายุ 56 ปี เมื่อไปถึงเห็นแม่กำลังถอนต้นหอมออกจากแปลง แม่ถามว่าน้ำมาจากไหน เขาปล่อยมาจากเขื่อนใช่ไหม แปลงแม่ทั้งคะน้า หอมแดง ผักชี เสียหายทั้งหมด ขาดรายได้ไปเยอะพอสมควร ต้องใช้เวลาปลูก 2 เดือนกว่าจะได้ผลผลิต แต่น้ำมาทีเดียวหายเกลี้ยงหมดเลย

เช่นเดียวกับ แม่อภิสรา ชัยบุตรสมบูรณ์ อายุ 56 ปี ที่บอกว่าได้รับความเสียหายทั้ง ถั่วลันเตา ถั่วแขก กระเทียม และผักคะน้า และถูกน้ำพัดไปหมดเลย โดยไม่บอกไม่กล่าว ไม่มีสัญญาณแจ้งล้วงหน้า ได้แต่งงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดที่ลงมาดู ยังมีพี่น้องเกษตรกรริมโขงอีกมาก ที่ได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนจากน้ำโขงขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุครั้งนี้

ความเสียหายกับผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ตามมาด้วยคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดระดับน้ำถึงสูงขึ้นผิดปกติ ทั้งที่อยู่ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งหายนะที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่มีการก่อสร้าง และพัฒนาในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนของประเทศจีน ด้วยการสร้างเขื่อน และระเบิดเกาะแก่ง

นับจากนั้นเป็นต้นมา สายน้ำที่ควรไหลไปตามเส้นทางธรรมชาติ ก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

แฉเขื่อนจีนปล่อยน้ำ ให้เรือพาณิชย์เดินทางสะดวก

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นผิดปกติในช่วงนี้ว่า จริงๆแล้วระดับน้ำที่ขึ้นไม่ถึงกับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ แต่น้ำโขงสูงขึ้นผิดฤดูกาล ปกติตอนนี้หน้าแล้ง น้ำต้องลดระดับลงตามธรรมชาติ หากดูกราฟระดับน้ำ จะพบว่าน้ำสูง มาจากเชียงแสน ลงมาหลวงพระบาง แปลว่า น้ำหลักๆ มาจากจีน

จากข้อมูลพบว่าระลอกน้ำโขงที่ไหลลงมาท่วมพื้นที่เกษตรทางอีสานในช่วงนี้ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นปริมาณน้ำที่ส่วนใหญ่มาจากจีน คือจากเขื่อนจิงหง ที่สิบสองปันนา ซึ่งเหตุผลหลักที่เขาระบายน้ำลงมา น่าจะเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ของประเทศเขา

น.ส.เพียรพร กล่าวต่อว่า พื้นที่เกษตรริมน้ำ เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการและภูมิภาค ว่ามีประชาชน-ชุมชน ใช้ประโยชน์ตลอดลุ่มน้ำ ไม่ใช่เฉพาะแม่น้ำโขง โดยเกษตรริมน้ำเป็นแหล่งรายได้ แหล่งอาหาร ที่ประชาชนลุ่มน้ำโขงหลายล้านครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้ แม้จะไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล แต่เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

หลายปีที่ผ่านมาทางเหนือ โดยเฉพาะที่เชียงราย เจ็บหนักจากเขื่อนจีน ที่สร้างเสร็จไปแล้ว 10 เขื่อน ซึ่งทั้งปล่อยน้ำ และกักน้ำ ผิดฤดูกาล สร้างความเสียหาย โดยไม่มีผู้รับผิดชอบ หลายเคสพบว่าท้องถิ่น รวมถึงอบต. ต้องนำงบประมาณมาชดเชยเยียวยา โดยที่ต้นเหตุ กลับไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันหลายฝ่ายพยายามผลักดัน “การรับผิดชอบข้ามพรมแดน” เพื่อให้ผู้กระทำผิด/ละเมิดสิทธิ ต้องรับผิดชอบแม้ความเสียหายจะอยู่นอกประเทศของตน ตอนนี้ที่ทำและเห็นเป็นรูปธรรม 2 กรณี คือการฟ้องศาลปกครอง กรณีผลกระทบข้ามพรมแดน และสิทธิของประชาชนไทยตามรัฐธรรมนูญ ในคดีเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนปากแบง ซึ่งทั้งสองคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำในทันที คือ ตระหนักและยอมรับว่า การใช้งานเขื่อนในจีน มีผลต่อระดับน้ำโขงทางตอนล่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงจากจีนใต้ลงถึงหลวงพระบาง

และจำเป็นต้องเรียกร้องให้ประเทศต้นน้ำ จัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทันที ด้วยความตระหนักว่าแม่น้ำโขง ไม่ใช่คลองเดินเรือ หรือคลองส่งน้ำ แต่เป็นแม่น้ำนานาชาติที่ใช้ร่วมกันในภูมิภาค เป็นแหล่งระบบนิเวศ และมีประชาชนพึ่งพาทรัพยากรร่วมนี้จำนวนหลายสิบล้านคน”

ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ ยังแสดงความกังวลว่า อีกไม่กี่เดือน เมื่อโครงการ เขื่อนไซยะบุรี เริ่มผลิตไฟฟ้า ชาวบ้านริมโขง ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และอีสาน เตรียมรับมือความผันผวนของแม่น้ำโขงได้เลย

แต่ที่น่ากังวลมาอย่างต่อเนื่อง คือรัฐ ไม่ยอมรับว่าเกิดความเสียหาย จึงไม่มีระบบในการแชร์ข้อมูลในลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการเตือนภัยแก่ชุมชนริมโขง ดังนั้นมาตรการชดเลย เยียวยา จึงไม่มี ชาวบ้านที่เจ็บ ก็ต้องทนเจ็บกันต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่อาศัย และหาอยู่หากินอยู่ริมสองฝั่งโขง เปลี่ยนไปหลังจากมีการพัฒนาในแม่น้ำโขงตอนบน

จำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลไทย ต้องเรียกร้องไปยังประเทศที่เป็นต้นเหตุ ให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทิ้งให้คนเล็กคนน้อย ต้องรับกรรมที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

______________________________________________________________________

อ่านข่าว : น้ำโขง สูงสุดเป็นประวัติการณ์! ท่วมร้านอาหาร-แปลงผักชาวบ้าน คาดเขื่อนจีนปล่อย

อ่านข่าว : จีนหวังกินรวบ ลุยระเบิดแก่งแดนไทย-สร้างเขื่อนปากแบงในลาว

อ่านข่าว : ชาวบ้านซัดจีน เอาเปรียบประเทศเล็ก-ค้ากำไรเกินควร หวังระเบิดแม่น้ำโขง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน