นักวิชาการม.เกษตร เผยผลศึกษาเมืองจีน คุมรถวันคู่-คี่ อาจแก้ฝุ่นพิษไม่ได้ แนะวิธีแก้ปัญหา

ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอของนายกฯ เกี่ยวกับมาตรการคุมรถวันคู่-คี่ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ความว่า

หลายคนคงได้ยินว่ารัฐบาลอาจพิจารณานำ “มาตรการคุมรถวันคู่-คี่” มาใช้ หากฝุ่นพิษเข้าขั้นวิกฤติ แล้วมาตรการนี้จะสามารถลดฝุ่นพิษได้จริงหรือไม่? ลองมาดูงานวิจัยในต่างประเทศที่เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของมาตรการในลักษณะนี้ในการลดมลพิษทางอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกคนและผู้กำหนดนโยบายนะครับ ผลปรากฏว่า…

“มาตรการคุมรถวันคู่-คี่” ไม่สามารถลดมลพิษได้เสมอไป แต่อาจจะทำให้มลพิษยิ่งแย่กว่าเดิม!! ขออนุญาตยกตัวอย่างงานศึกษาของ Davis (2008) (อ้างอิงที่ 1) ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Political Economy ซึ่งเป็นวารสารชื่อดังทางเศรษฐศาสตร์

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

งานนี้ได้ทำการประเมินผลของ “มาตรการคุมรถโดยใช้เลขทะเบียนรถหลักสุดท้าย” ในประเทศเม็กซิโก หรือที่เรียกเป็นภาษาเม็กซิกันว่า มาตรการ “Hoy No Circula” มาตรการนี้ถูกนำมาใช้ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งเป็นเมืองหลวง และถูกจัดว่าเป็นเมืองที่มีปัญหารถติดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก ขณะที่กรุงเทพฯ ของเราอยู่อันดับที่ 11 ของโลก (อ้างอิงที่ 2)

มาตรการนี้ถูกนำมาใช้ในช่วงปลายปี ค.ศ.1989 เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงมากในกรุงเม็กซิโกซิตี้ช่วงฤดูหนาว เหมือนกรุงเทพเราที่เป็นช่วงอากาศตายและไม่มีลม โดยในแต่ละวันทำการ (จันทร์ถึงศุกร์) รถที่มีเลขทะเบียนลงท้ายที่แตกต่างกันจะได้รับสติ๊กเกอร์สีต่างๆ แปะไว้ที่รถ และได้รับอนุญาติให้วิ่งบนถนนได้เฉพาะในวันที่กำหนดตามสีของสติ๊กเกอร์เท่านั้น

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศรายชั่วโมงของมลพิษต่างๆ ได้แก่ CO NO2 O3 NOx และ SO2 และใช้เทคนิคการประเมินโครงการทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “Regression Discontinuity Design”

ผลการศึกษาพบว่า มาตรการข้างต้นไม่สามารถลดมลพิษทางอากาศทั้ง 5 ตัวได้เลยในทุกกรณี แต่กลับทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงมากขึ้นในช่วงวันหยุด และวันธรรมดาช่วงที่ไม่ใช้ชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องคนไม่ยอมหันไปใช้รถไฟใต้ดิน รถโดยสารสาธารณะ และรถโดยสารเอกชน ตามที่รัฐบาลคาดการณ์

แต่กลับหันไปซื้อรถใหม่กันมากขึ้น และที่สำคัญรถใหม่บางส่วนที่ซื้อคือรถยนต์มือสองที่อายุการใช้งานนาน ทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพน้อยกว่ารถใหม่ เพื่อให้สามารถมีรถยนต์ขับกันได้ทุกวัน เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนยังขาดประสิทธิภาพ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ งานศึกษาในประเทศจีน ซึ่งมีการนำ “มาตรการคุมรถวันคู่-คี่” มาบังคับใช้ในกรุงปักกิ่ง ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน (Wang, Xu & Qin, 2014; Xie, Tou, & Zhang) โดยงานวิจัยพบว่า สามารถทำให้รถยนต์ลดลงบนถนนได้เพียงเล็กน้อยในระยะสั้นเท่านั้น ระยะยาวแทบไม่ได้ผลเลย และมลพิษก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนั้นยังทำให้คนมีพฤติกรรมละเมิดกฎข้อบังคับที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 47.8 ของรถยนต์ที่ถูกควบคุม ในทางตรงกันข้ามนโยบายที่เน้นส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสามารถแก้ไขปัญหามลพิษได้ดีกว่าการบังคับใช้มาตรการคุมรถต่างๆ รวมถึงมาตรการวันคู่-คี่

ดังนั้น หากนำ “มาตรการคุมรถวันคู่-คี่”มาใช้จริง อาจต้องศึกษาประสบการณ์ในต่างประเทศให้รอบคอบ และพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยทั้งพฤติกรรมของคนไทยและความพร้อมของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนด้วยนะครับ

นอกจากนั้นอาจพิจารณาใช้มาตรการอื่นควบคู่กันไป เช่น การจัดเก็บค่าผ่านทางในพื้นที่การจราจรแออัด ค่าธรรมเนียมการจอดรถ ภาษีพลังงาน ที่จอดรถส่วนบุคคลเพื่อใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ไม่อย่างนั้นพวกเราคนไทยอาจจะเจอมลพิษหนักกว่าปัจจุบันก็เป็นได้

อ่านต้นฉบับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน