จากกรณีมีการต่อต้านการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยประชาชนยังยืนยันว่า คัดค้านการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ในขณะที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าสร้างโรงงานดังกล่าวนั้น
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุถึง เหตุผลที่รัฐบาลไม่ควรเดินหน้าทำโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยอธิบายว่า ถ่านหินเป็นพลังงานที่สกปรก และต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในการทำให้สะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับเหตุผลว่า ต้องการทำพลังงานราคาถูก และยกตัวอย่างเช่น จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ที่กระบี่ และอีก 2,000 เมกะวัตต์ที่เทพา จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากรถยนต์ทุกคันในประเทศไทยรวมกัน!

 

โดยบทความระบุว่า “การตัดสินใจเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ #รัฐบาลแน่ใจหรือว่าได้คุ้มเสีย การทำให้ ‘ถ่านหิน’ ซึ่งเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุด กลายเป็น ‘พลังงานสะอาด’ อย่างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตโฆษณา เท่าที่ผมทราบมายังไม่เจอที่ไหนที่เอามาใช้ได้จริงเลยครับ เพราะแม้ว่าอาจจะเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติต้นทุนจะสูงมากจนไม่คุ้มที่จะทำ เหตุผลของ กฟผ. ที่บอกว่าเลือกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะราคาถูกจึงขัดกันเองในตัว เพราะถ้าจะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สกปรก ก็จะไม่ราคาถูกอีกต่อไป

 
แล้วก็ยังมีเรื่องใหญ่คือ เทคโนโลยีใหม่ที่อ้างว่า ‘สะอาด’ นั้น ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในบรรดาโรงไฟฟ้าทั้งหลาย โรงไฟฟ้าถ่านหินนี่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเพื่อน ตัวเลขที่ผมทราบคือ จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ที่กระบี่ และอีก 2,000 เมกะวัตต์ที่เทพา จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากรถยนต์ทุกคันในประเทศไทยรวมกัน! คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้น้ำท่วมภาคใต้บ่อยขึ้นนี่แหละครับ

 

และที่สำคัญคือพื้นที่ที่จะก่อสร้างที่กระบี่ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นพื้นที่ประมงชายฝั่งสำหรับชุมชน และยังเป็นอยู่ในเขตพื้นที่แรมซาร์ หรือพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญในระดับระหว่างประเทศ การเอาโครงการที่มีข้อสงสัยเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปสร้างในพื้นทีละเอียดอ่อนอย่างนี้ ก็ต้องมีคนคัดค้านแน่ ไหนจะเรื่องมีปัญหาเรื่องการหล่อเย็น ที่น้ำที่ปล่อยมาจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3 หรือ 4 องศา ซึ่งจะกระทบต่อระบบนิเวศและวงจรชีวิตของแพลงตอนที่เป็นอาหารสัตว์ทะเล ไหนจะเรื่องเรือขนถ่ายถ่านหินที่วิ่งไปมา ฯลฯ

 

ถ้ารัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นใดยังพอว่า แต่โรงไฟฟ้าน้ำมันปาล์มของเอกชนที่ภาคใต้ก็ผลิตไฟฟ้าได้หลายร้อยเมกะวัตต์ แต่ กฟผ. ไม่ยอมไปซื้อเขาเอง แล้วที่จังหวัดกระบี่ยังมีศักยภาพความพร้อมที่จะผลิตพลังงานทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย

 

กฟผ. มักจะบอกว่า ประเทศไหนๆ ก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประเทศที่มีพลังงานทางเลือกมากที่สุดอย่างสแกนดิเนเวียและเยอรมันนี ก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นประเทศเราก็มีได้ จริงครับ แต่เขาทยอยเลิกใช้และไม่สร้างใหม่เพิ่มแล้ว ล่าสุดแม้กระทั่งประเทศจีนที่ใช้พลังงานถ่านหินมากที่สุดก็ประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนกว่าหนึ่งร้อยแห่งแล้วครับ

 

เรื่องนี้ก็เหมือนกับบริษัทหรือหน่วยงานแห่งหนึ่ง ถ้าต้องการซื้อแอร์ใหม่ ถามว่าเขาจะซื้อแอร์รุ่นเดิม หรือแอร์รุ่นใหม่ครับ แน่นอนเขาต้องซื้อแอร์รุ่นใหม่ ไม่ใช่แอร์รุ่นเก่า แอร์รุ่นเก่าก็ใช้ไปก่อน พอเปลี่ยนใหม่ก็ต้องซื้อแอร์รุ่นใหม่แน่ แล้วทำไมรัฐบาลถึงไปเลือกโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าละครับ
ถ้าประชาชนในพื้นที่เขารับได้ก็พอทำเนา แม้ว่าจะมีคนสนับสนุนอยู่ แต่คนคัดค้านก็มีมิใช่น้อย การตัดสินใจครั้งนี้ของ คสช. ถือว่า พลาดในทางการเมือง เสียงสนับสนุนในภาคใต้หายไปเยอะในคราวนี้ แล้วก็จะกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม ต่อให้สลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบได้ แต่รัฐบาลจะส่งกำลังตำรวจหรือทหาร ไปเฝ้าโรงไฟฟ้าได้ตลอดหรือครับ

 

แล้วถ้าจะบอกว่าภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้า เพราะมีไฟฟ้าสำรองน้อยที่สุด อันนี้ กฟผ. หลงประเด็นนะครับ ชาวบ้านไม่ได้ค้านโรงไฟฟ้า เขาค้านถ่านหินครับ! เรื่องนี้ได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งความสุ่มเสี่ยงในเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศของกระบี่ และความสุ่มเสี่ยงในทางการเมือง เรื่องหลังนี่อาจจะสำคัญกว่าเรื่องแรกด้วยซ้ำ ทางเลือกอื่นยังพอมี #โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่รัฐบาลควรจะถอยก่อนครับ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน